IPOInsight: CHIC กางปีกสู่โลกดิจิทัลสร้างโอกาสเจาะตลาดต่างแดน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 25, 2022 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่อยู่อาศัยนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ประกอบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น นำมาสู่การให้ความสำคัญกับการตกแต่งที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของ บมจ.ชิค รีพับบลิค (CHIC) ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

CHIC เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 360 ล้านหุ้น ที่ 0.90 บาท/หุ้น จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 26.47% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังเสนอขาย IPO โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (Service) หมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ในวันที่ 27 ก.ค.65 มี บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ราคาหุ้น IPO ที่หุ้นละ 0.90 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 31.69 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.0284 บาทต่อหุ้น คำนวณจากกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64-31 มี.ค.65 ที่จำนวน 28.43 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (Pre-IPO Dilution)

และคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 43.06 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.0209 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ 1,360 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (Post-IPO Dilution)

*เปิดธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบบ One Stop Shopping

นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ CHIC เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ภายในบ้าน ที่นอนและเครื่องนอนมาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี ภายใต้ Business Model อย่าง One Stop Shopping ด้วยการสร้างโชว์รูมสินค้ารูปแบบ Stand Alone พื้นที่เฉลี่ยราว 8,000-12,000 ตารางเมตร/สาขา เพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้าและบริการได้อย่างครบวงจร

"ย้อนกลับไปเมื่อ 12-15 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมียี่ห้อเฟอร์นิเจอร์ทางเลือกค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะตลาดระดับ B+ จนถึง A ประกอบกับในยุคนั้นธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมคือธุรกิจแบบ One Stop Shopping เราเห็นโอกาสนี้ก็เลยก่อตั้งเป็น ชิค รีพับบลิค ขึ้นมา ถือว่าเราเป็น First Home Fashion in Thailand"นายกิจจา กล่าว

ปัจจุบัน CHIC มีอยู่ 5 สาขาในประเทศไทย ได้แก่ สาขาประดิษฐ์มนูธรรม, พัทยา, บางนา, ราชพฤกษ์ และรามอินทรา นอกจากนั้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา CHIC ได้ขยายสาขาไปสู่กัมพูชา ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้า AEON Mall Sen Sok (อิออนมอลล์แสนสุข) ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในกัมพูชา

บริษัทจำหน่ายสินค้าภายใต้ 3 แบรนด์หลักอย่าง 1) CHIC จับกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งมีดีไซน์ที่หลากหลายทั้ง Modern, Vintage และ Contemporary 2) RINA HEY จับตลาด Mass เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ค่อนข้างสูง และ 3) Ashley แบรนด์นำเข้าชื่อดังจากสหรัฐฯ จับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าแบบอเมริกันสไตล์

*เจาะ Keysuccess พัฒนาหลายบริการตอบโจทย์ลูกค้า

นายกิจจา กล่าวว่า กุญแจความสำเร็จของ CHIC คือการที่บริษัทให้ความสำคัญไปยังการตกแต่งภายในโชว์รูมสินค้า โดยกำหนดนโยบายการออกสินค้าคอลเลคชั่นใหม่และต้องมีการจัดวางสินค้าใหม่ทุก 3-4 เดือน เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดแรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้าน

ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายช่องทางจำหน่ายไปสู่โลกออนไลน์ ทั้งการจัดทำเว็บไซต์, การเข้าร่วมกับ Marketplace ชั้นนำในประเทศอย่าง Shopee, Lazada หรือ Central Online และการเข้าถึงช่องทาง Social Media เช่น Line หรือ Instagram เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

"เราพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ Digital Transformation อย่างการขายออนไลน์นี้ต้องบอกเลยว่าทำให้เรามีโอกาสขายสินค้าให้กับลูกค้าต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะที่ต่างจังหวัดเราไม่มีสโตร์เลย แต่ตอนนี้ลูกค้าทั่วประเทศสามารถเข้ามาสั่งซื้อสินค้าของเราได้ ทำให้เราได้ลูกค้าต่าจังหวัดเพิ่มขึ้นมาจำนวนมาก และจาก Operating Cost ที่ต่ำทำให้การขายออนไลน์สร้างผลกำไรได้ดี" นายกิจจากล่าว

และ CHIC ยังคงสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ทั้ง "Chic Rent In Style" ธุรกิจให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ รองรับความต้องการของลูกค้าที่รับจัดงานอีเว้นท์ หรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจัดตกแต่งห้องตัวอย่างให้ลูกค้าได้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยทาง CHIC มีบริการขนส่ง ประกอบติดตั้งและจัดเก็บให้เรียบร้อย นับว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับการตอบสนองจากลูกค้าเป็นอย่างดี

รวมถึงธุรกิจ "Chic Design Studio" ให้บริการออกแบบและตกแต่งภายในแบบครบวงจร ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดมาจากความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อบริษัท และจากการเห็นโอกาสดังกล่าว จึงจัดตั้งทีมรับออกแบบและรับเหมาเทิร์นคีย์อย่างครบวงจรให้กับลูกค้า

"เราเชื่อว่าธุรกิจ Chic Design Studio จะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนมากจะเป็นลูกค้าที่มีบ้านขนาดใหญ่และมีงบประมาณในการตกแต่งบ้านสูง ซึ่งเขามองว่าบ้านคือสิ่งที่แสดงฐานะทางสังคม บ้านคือทรัพย์สินที่มีมูลค่าและเป็นสิ่งที่ครอบครัวใช้ร่วมกัน ดังนั้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก" นายกิจจากล่าว

นอกจากการตอบโจทย์ลูกค้าด้านธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งแล้ว CHIC ยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในด้านอื่น ๆ ด้วยการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ร้านค้าที่น่าสนใจ เช่น ร้านอาหาร หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาเปิดให้บริการภายในพื้นที่แต่ละสาขาอีกด้วย

"การที่เราทำสโตร์ใหญ่เป็นหมื่นตารางเมตร แน่นอนว่าเราต้องใส่สิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้านั่นก็คือร้านอาหาร เมื่อป็นพาร์ทเนอร์กัน สิ่งที่ได้คือจำนวนลูกค้าและรายได้ค่าเช่า ที่สำคัญในตอนนี้มีร้านอาหาร หรือ Supermarket ติดต่อเรามาเข้ามามากขึ้น เพราะกังวลว่าถ้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า อาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากมาตรการภาครัฐอีกรอบหนึ่ง" นายกิจจากล่าว

*โตตามตลาดอสังหาฯ คาดรายได้ปี 65 กลับสู่ช่วงก่อนโควิด

นายกิจจา กล่าวอีกว่า CHIC ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต อีกทั้งโครงสร้างในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่ต้องการแยกที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นอิสระมากขึ้น และเริ่มมองว่าการตกแต่งบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นธุรกิจของ CHIC จึงเป็นสิ่งที่ตอบสนองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่สะท้อนการเติบโตของ CHIC คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทราว 30% มาจากธุรกิจโครงการ ซึ่งบริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯชั้นนำที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นลูกค้าของ CHIC เกือบทั้งหมด นับว่าเป็นความโชคดีที่เราเป็นผู้เติบโตตามธุรกิจตรงนี้

"จากการที่เราใกล้ชิดและพูดคุยกับลูกค้าอสังหาฯ พบว่าบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมราคาแพงถึงแพงมากยังขายดีอยู่ สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเจอกับภาวะเงินเฟ้อ แต่กำลังซื้อของลูกค้าระดับบนยังคงดีอยู่ ซึ่งเราก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้ เพราะเราจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านให้กับโครงการคอนโดมิเนียมเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยประมาณ 8 พันยูนิต/ปี ซึ่งก็นับว่าเป็นรายได้หลักของเราอีกทางหนึ่ง" นายกิจจากล่าว

แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการจากภาครัฐที่สั่งปิดหน้าร้านในบางช่วง แต่ด้วยการเรียนรู้และปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ส่งผลให้ผลประกอบการในปี 63-64 ยังคงสร้างผลกำไรได้ และปัจจุบันที่โรคระบาดเริ่มคลี่คลายก็หนุนให้ผลประกอบการในไตรมาส 1/65 เติบโต ซึ่งทาง CHIC ประเมินว่า หากมีการเปิดประเทศไปจนถึงช่วงสิ้นปี คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงปี 62 ได้

*ระดมทุนขยายกิจการ-พัฒนาระบบ E-commerce

วัตถุประสงค์หลักของบริษัท จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปขยายสาขาที่จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงมีตลาดอสังหาฯที่เติบโตได้ดี ประกอบกับมีลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงจากฝั่งสปป.ลาวข้ามมาซื้อเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และนอกจากจะเปิดเป็นโชว์รูมสินค้าในพื้นที่ด้านหน้าแล้ว จะใช้พื้นที่ข้างหลังก่อตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าต่างจังหวัด

รวมไปถึงจะนำเงินที่ได้มาปรับปรุงสาขาที่มีอยู่เดิม คือสาขาราชพฤกษ์และบางนา ให้มีความทันสมัยมากขึ้น และปรับพื้นที่เพื่อรองรับพาร์ทเนอร์ร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ได้มากขึ้น ส่งผลดีกับจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้ค่าเช่าที่จะเพิ่มเข้ามา

ขณะเดียวกันบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดกัมพูชา จึงวางแผนลงทุนพัฒนาระบบ E-commerce และการขนส่งในประเทศกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือกับบริษัทขนส่งภายในประเทศกัมพูชา เพื่อวางแผนการขนส่งสินค้า

นอกจากนี้จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการและชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านการเงินให้กับบริษัท

"ธุรกิจเราเมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แล้วก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น ในอนาคตเราก็มองหาพาร์ทเนอร์ที่มาทำธุรกิจร่วมกัน อาจจะเป็นพันธมิตรที่มาสนับสนุนธุรกิจหลักของเรา หรือจะเป็นการขยายออกไปสู่ธุรกิจอื่น ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนก็ได้" นายกิจจากล่าว

นายกิจจา ยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตบริษัทต้องการพัฒนาด้าน Digital Transformation มากขึ้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพราะฉะนั้น CHIC ก็จะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

"ผมชอบตรงที่เฟอร์นิเจอร์มันมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าผมทำธุรกิจที่เกี่ยวกับวัตถุดิบ มันก็มีแค่ดีมาน์-ซัพพลาย แต่การทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มันเป็นเรื่อง Creative เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ สร้าง Value Added ซึ่งการทำธุรกิจผมมองทั้ง Short-term และ Long-term เพราะฉะนั้นเราต้องมองต่อไปในอนาคต แล้วก็ปรับตัวเองไปสู่คำตอบให้กับลูกค้า " นายกิจจา กล่าว

https://www.youtube.com/watch?v=gULpne4DESQ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ