ฟิทช์ คงอันดับเครดิต SCB ที่ 'BBB' และ 'AA+(tha)' แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 27, 2022 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังได้คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารที่ 'bbb' และอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb' รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสากล: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCB มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากทั้งโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง (ซึ่งสะท้อนจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน) และความคาดหวังของฟิทช์ว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคาร (ซึ่งสะท้อนจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากทางรัฐบาล) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ SCB ที่ F2 เป็นตัวเลือกที่สูงกว่าสำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'BBB' และสะท้อนถึงโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนที่มีความแน่นอนกว่าในระยะสั้น นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB ยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ

สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานฟื้นตัวจากผลกระทบโรคระบาด: สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของภาคธนาคาร โดยฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 และ 4.5% ในปี 2566 อันดับคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ ?bbb? และ 'แนวโน้มมีเสถียรภาพ' และยังมีคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในกลุ่ม ?bb? แต่ฟิทช์มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนโดยใช้ปัจจัยด้าน ?อันดับเครดิตของประเทศ? ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ?BBB+?/'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' รัฐบาลมีความสามารถและความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมในภาคธุรกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งสังเกตได้จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงโรคระบาดโควิด-19

เครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง: SCB เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไทย SCB และมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั่วประเทศและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก SCB มีการดำเนินธุรกิจธนาคารแบบครบวงจรโดยมีความแข็งแกร่งทางการตลาดในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อรายย่อย บริการธุรกรรมทางการเงิน (transactional banking) และการบริหารจัดการกองทุน ฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในหลายกลุ่มธุรกิจของธนาคารจะช่วยเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารมีโอกาศทางธุรกิจและมีความสามารถที่จะทำรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง ฟิทช์ไม่คาดว่าการปรับโครงสร้างกลุ่มของธนาคารจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของธนาคารปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

ยังคงมีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์: อันดับคะแนนตามเกณฑ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอยู่ที่กลุ่มคะแนน 'bb' แต่ฟิทช์มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนดังกล่าวโดยใช้ปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ' (collateral and reserve) ซึ่งพิจารณาจากการที่ SCB สามารถรักษาระดับสำรองหนี้สูญให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้มาอย่างต่อเนื่องตลาดวัฎจักรธุรกิจ (through the cycle) โดยธนาคารมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเฉลี่ยที่ 136% ในช่วงปี 2555-2564 รวมทั้งธนาคารยังมีสินเชื่อที่มีหลักประกันในระดับที่ค่อนข้างสูง

ฟิทช์ปรับแนวโน้มของอันดับคะแนนด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็น 'มีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มเป็นลบ' เพื่อสะท้อนมุมมองของฟิทช์ว่าโอกาสที่คุณภาพสินทรัพย์จะปรับตัวแย่ลงอย่างมากนั้นได้ปรับตัวลดลงแล้ว เนื่องจากกิจกรรมในภาคธุรกิจที่ได้ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งการเติบโตของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาของธนาคารเป็นไปอย่างระมัดระวัง (สินเชื่อเติบโตเฉลี่ยที่ 3.2% ในช่วงปี 2561-2564 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 5%) ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ความสามารถในการทำกำไรเริ่มฟื้นตัว: ฟิทช์มองว่าความสามารถในการทำกำไรของ SCB น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2565-2566 โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของรายได้จากแรงกดดันที่ลดลงในด้านอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิและการฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคธุรกิจ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิต (credit cost) คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ระดับ 58% ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตในปี 2563

อย่างไรก็ตาม SCB อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างของกลุ่มในช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงคาดว่าอัตราส่วนทางการเงินหลักในด้านรายได้และความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ย 4 ปี ของธนาคารน่าจะยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเกณฑ์สำหรับอันดับคะแนนในกลุ่ม 'bbb' ( โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 1.5%; ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 อยู่ที่ 2.3%)

เงินกองทุนสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับที่ยอมรับได้: SCB มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่ 17.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบภายในประเทศ หรือ D-SIB และฟิทช์คาดว่าธนาคารจะยังคงรักษาระดับเงินกองทุน CET 1 ให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้ตามแผนการปรับโครงสร้างของกลุ่ม SCB คาดว่าต้องจ่ายเงินปันผลพิเศษจำนวนมากแก่บริษัทแม่ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ของกลุ่มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 เฉพาะของธนาคารปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15% อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 รวมของทั้งกลุ่มไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักและน่าจะช่วยเป็นปัจจัยหลักในการรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงที่ไม่ได้คาดการณ์

เครือข่ายธุรกิจเป็นปัจจัยหนุนความสามารถในการการระดมเงิน: ความสามารถในการการระดมเงินและสภาพคล่องของ SCB ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานลูกค้ารายย่อยที่แข็งแรง ประกอบกับการที่ธนาคารมีเงินฝากที่ต้นทุนต่ำและมีเสถียรภาพในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง โดยมีบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกและออมทรัพย์คิดเป็น 80% ของเงินฝากรวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นอกจากนี้สภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ประมาณ 93% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2565 และมีอัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้นต่อประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิใน 30 วัน หรือ LCR ที่สูงที่ 202% ณ สิ้นปี 2564

มีความสำคัญต่อระบบอย่างมีนัยสำคัญ: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCB สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่า SCB มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคาร SCB มีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากที่ประมาณ 15% มาเป็นเวลาต่อเนื่อง และธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ SCB เป็น 1 ใน 6 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบภายในประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงขนาดและระดับความสัมพันธ์ต่อระบบการเงินในประเทศของธนาคาร อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังพิจารณาถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย ซึ่งบ่งชี้ได้จากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ การปรับลดทั้งอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินพร้อมกันจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น ?bbb-' หากฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวด้อยลงมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ โดยตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าธนาคารมีระดับการยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าที่ฟิทช์ประเมินหรือโครงสร้างธุรกิจของธนาคารอ่อนแอ่กว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมสูงกว่า 6% (ไตรมาสที่ 1ปี 2565: 4.5%) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 ที่ต่ำกว่า 13 % รวมทั้งอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพต่ำกว่า 120% และ/หรือ ไม่สามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สูงกว่า 1.5%

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับหากฟิทช์เชื่อว่าความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ นอกจากนี้การปรับลดอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ SCB ลดลง เช่น จากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการเปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB จะพิจารณาโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจสามารถสนับสนุนให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าอุตสาหกรรมได้อย่างสม่ำเสมอประกอบกับการมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระดับปานกลาง ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะต้องได้รับแรงหนุนจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากและจะเห็นได้จากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญเช่น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงกว่า 2.5% (ไตรมาสที่ 1 ปี 2565: 2.3%) และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ต่ำกว่า 3% โดยที่ยังคงความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น การมีอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 ที่สูงกว่า 16% อย่างไรก็ตามโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินนั้นมีค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงมีความท้าทาย

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย อาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนธนาคารในประเทศ ซึ่งรวมถึง SCB อย่างไรก็ตามการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลต้องคำนึงถึงการที่โอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม ทั้งนี้หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCB ก็ไม่น่าที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

อันดับเครดิตของตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCB มีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร และได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

อันดับเครดิตของตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน แต่ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะไม่สามารถได้รับการปรับเพิ่มอันดับได้อีก เนื่องจากเป็นระดับที่สูงที่สุดแล้ว

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ'

อันดับเครดิตที่เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตสากลของ SCB เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ