SET ปิด 1,576.41 จุด เพิ่มขึ้น 23.23 จุด (+1.50%) มูลค่าการซื้อขายราว 59,390.21 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯเผยดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับขึ้นมาได้แรง ตอบรับมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อตัวเลข GDP สหรัฐและการประชุมเฟด พร้อมคาดตลาดหุ้นในเดือน ส.ค.ฟื้นตัวได้หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาดและรอบหน้าอาจไม่ปรับขึ้นแรงแล้ว เหตุแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวหลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลง อีกทั้งคาด กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วยชะลอเงินทุนไหลออกได้ แนวโน้มสัปดาห์หน้ารอติดตาม GDP สหรัฐและผลประชุมเฟด ให้แนวต้าน 1,600 จุด แนวรับ 1,547 จุด
ตลาดหลักทรัพย์ ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,576.41 จุด เพิ่มขึ้น 23.23 จุด (+1.50%) มูลค่าการซื้อขายราว 59,390.21 ล้านบาท
การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีฯเคลื่อนไหวในแดนบวกและดีดตัวขึ้นแรงในช่วงบ่าย โดยขึ้นไปทำระดับสูงสุด 1,576.78 จุด และลงไปต่ำสุดที่ 1,555.64 จุด
ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้ เพิ่มขึ้น 874 หลักทรัพย์ ลดลง 692 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 569 หลักทรัพย์
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้นแรง แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะปิดทำการในวันหยุดยาว แต่ก็จะมีการประกาศตัวเลข GDP สหรัฐ และประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งดูเหมือนตลาดคาดการณ์ไปในทิศทางดี โดย เอเซียพลัส มองโอกาส 50:50 ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งหากตัวเลข GDP ไตรมาส 2/65 ติดลบต่อเนื่องจะเข้าเกณฑ์ ส่วนการประชุมเฟดตลาดคาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดในเดือนส.ค.เชื่อว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบนี้ตามคาด เพราะประเมินว่าการประชุมรอบถัดไปคงจะไม่ปรับขึ้นถึง 0.75% อีก คาดจะปรับขึ้นในระดับ 0.50% หรือ 0.25% นอกจากนี้ในเดือน ก.ค.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงมาหลายตัวก็จะส่งผลเงินเฟ้อชะลอตัวลง
ประกอบกับ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในเดือนส.ค.นี้คาดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยต่างประเทศ ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง และทำให้เงินทุนต่างชาติชะลอไหลออก
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์หน้าขึ้นกับตัวเลข GDP สหรัฐและผลประชุมเฟดเป็นหลัก พร้อมให้แนวต้านที่ 1,600 จุด แนวรับที่ 1,547 จุด
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์
DELTA มูลค่าการซื้อขาย 6,431.11 ล้านบาท ปิดที่ 474.00 บาท เพิ่มขึ้น 106.00 บาท
BANPU มูลค่าการซื้อขาย 2,098.89 ล้านบาท ปิดที่ 13.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท
KBANK มูลค่าการซื้อขาย 1,995.65 ล้านบาท ปิดที่ 146.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท
KCE มูลค่าการซื้อขาย 1,939.99 ล้านบาท ปิดที่ 62.75 บาท เพิ่มขึ้น 4.25 บาท
TLI มูลค่าการซื้อขาย 1,922.67 ล้านบาท ปิดที่ 15.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท