แพทย์หญิงชุติมา ปิ่นเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 2/65 มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในรูปแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือ HI ให้กับลูกค้าที่จ่ายเงินสด ประกันชีวิต และสิทธิประกันสังคม การให้บริการฉีดวัคซีน การให้บริการในระบบรักษาปกติ
รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญของศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ โดยในไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาล 3,571.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,356.4 ล้านบาท
สำหรับทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลัง 65 บริษัทฯ ยังคงเน้นการให้บริการทางการแพทย์ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยกำหนดกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มสัดส่วนการให้บริการระบบรักษาปกติ รวมถึงทำการรักษาผ่าตัดมากขึ้น ส่งผลให้มีทิศทางของรายได้และกำไรเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
"เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทางโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ได้วางแผนปรับลดบริการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เพื่อรองรับการให้บริการรักษาคนไข้ทั่วไปที่ทยอยกลับมาเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามปกติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ก.ค.65 เป็นต้นไป กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ได้ยกเลิกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ใน Hospitel และทยอยยุบวอร์ดโควิด-19 ในกลุ่มโรงพยาบาลให้เหลือไว้เพียงแค่วอร์ดเดียว เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ไม่รุนแรงและไม่พบเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงการปรับลดการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในโรงพยาบาล และบริการ Home Isolation เนื่องจากอาการของผู้ป่วยติดเชื้อของโอมิครอนส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และปรับระบบรูปแบบรักษาเป็น OPD ส่วนการฉีดวัคซีนทางเลือกยังเปิดให้บริการเช่นเดิม" แพทย์หญิงชุติมา
ส่วนการผ่อนคลายมาตรการภาครัฐ ด้วยยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เดินทางเข้ามารับบริการที่ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและศูนย์การแพทย์ต่างๆ ของกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ป่วยชาวตะวันออกกลาง ที่มีกำลังซื้อสูงจะเดินทางมารักษาตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าการให้บริการรักษาโรคที่ซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือความผิดปกติ ภายใต้การดำเนินการศูนย์บริการทางการแพทย์ ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้เปิดศูนย์ "GASTRIC SLEEVE" ให้บริการผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะ เพื่อลดน้ำหนักแบบเร่งด่วนและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน (Bariatric surgery) ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ชลเวช จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือน ก.ค.65 ที่ผ่านมา
สำหรับการให้บริการผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมของกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ขณะนี้มีผู้ประกันตนประมาณ 5.1 แสนคน โดยในปี 65 มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนได้มากถึง 4 หมื่นคน โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.-ก.ย.65 ที่จะมีแรงงานใหม่เข้าสู่ระบบจ้างงาน รวมถึงผู้ประกันตนที่เป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย
แม้ว่าปี 65 แนวโน้มรายได้จากการให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งการตรวจหาเชื้อ การฉีดวัคซีน การรักษาผู้ป่วย ของกลุ่มโรงพยาบาลจะชะลอลง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่กลุ่มโรงพยาบาลจะมีรายได้จากการให้บริการรักษาโรคต่างๆ ตามปกติ จากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยประกันสังคม ผู้ป่วยประกันชีวิต และผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาตัว รวมถึงการให้บริการด้านอื่นๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/65
"แม้สถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศจะคลี่คลาย แต่กระแสการดูแลสุขภาพยังคงอยู่ในความสนใจของชาวไทยและคนทั่วโลก ดังนั้น กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์จึงต้องเตรียมความพร้อมและยกระดับศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ตลอดเวลา รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผ่านการลงทุนใหม่ ๆ สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง" แพทย์หญิงชุติมา กล่าว