บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) กำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 2.00 บาท จำนวนเสนอขายไม่เกิน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยจะเปิดจองซื้อในระหว่างวันที่ 9-11 ส.ค. 65 โดยบล.เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ส่วนบล.เคจีไอ (ประเทศไทย)เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio หรือ P/E) โดยราคาหุ้นละ 2.00 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 15.3 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.13 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64-31 มี.ค.65 ที่ 208.9 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 1,600 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution) และคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 21.0 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.095 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 2,200 ล้านหุ้น (Post-IPO Dilution)
บริษัทได้เปรียบเทียบอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ของบริษัทจดทะเบียนอื่นที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกันกับธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทได้เลือกบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งมีรายได้หลักจากการจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและ/หรือเชื้อเพลิงขยะจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) 24.24 เท่า บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ (CV) 24.71 เท่า บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) 35.58 เท่า และ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) 28.16 เท่า ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.64-25 ก.ค.65
ทั้งนี้ TGE เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะชุมชน นอกจากนั้น บริษัทยังมีนโยบายขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 75
พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาขยายธุรกิจเพิ่มเติมไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้จุดเด่นเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน TGE ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2 ประเภท ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีการเปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 เมกะวัตต์ (MW) และปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาระยะยาวรวม 20.3 MW รับรู้รายได้รูปแบบ Feed-in Tariff (Fit) และจะได้รับ FiT Premium เป็นระยะเวลา 8 ปีแรกนับจากวัน COD
นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 2 บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน TGE เปิดเผยว่าที่ราคา 2.00 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของ TGE โดยจุดเด่นของหุ้นตัวนี้อยู่ที่รายได้และกระแสเงินสดที่มั่นคง มีอัตรากำไรที่แข็งแกร่ง โดย TGE มี EBITDA Margin เฉลี่ยที่สูงถึง 47% สูงกว่าผู้ประกอบการอื่นในธุรกิจเดียวกันเนื่องจากมีข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากการมีวัตถุดิบที่เพียงพอและมั่นคง สามารถผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนต่ำ อีกทั้ง TGE ยังมีแผนขยายสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงมีศักยภาพที่จะขยายกำลังการผลิตให้เติบโตและสร้างกำไรที่ดีได้ในอนาคต พร้อมคาดจะเข้าซื้อขาย SET ได้ภายในเดือน ส.ค. นี้
สำหรับราคา 2.00 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ที่ 15.3 เท่า เทียบกำไรสุทธิที่ 0.13 บาทต่อหุ้น คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (1 เม.ย. 64 ? 31 มี.ค. 65) ที่ 208.9 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทก่อนเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ที่ 1,600 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution) และคิดเป็น P/E Ratio เท่ากับ 21.0 เท่า เทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.095 บาทต่อหุ้น คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ที่ 2,200 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution)
ส่วน P/E Ratio ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 4 บริษัท ได้แก่ ACE, CV, ETC, TPCH มีค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 28.2 เท่า โดยอ้างอิงข้อมูลช่วงระยะเวลา 12 เดือนย้อนหลังระหว่างวันที่ 27 ก.ค. 64 ถึงวันที่ 25 ก.ค. 65 โดยราคาเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าโครงการใหม่ๆ ที่บริษัทจะเข้าร่วมประมูลเพิ่มเติมอีก 4 โครงการในช่วงปลายปีนี้
TGE มีทุนจดทะเบียน 1,100 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้ว 800 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,600 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 27.3% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ชำระเงินกู้ยืมและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ด้านนายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ TGE เปิดเผยว่า บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES SKW จังหวัดสระแก้ว, โรงไฟฟ้า TES RBR จังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN จังหวัดชุมพร กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 65 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนแล้ว ขั้นตอนต่อไปการไฟฟ้าจะเปิดรับยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในปี 67
ทั้งนี้บริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีกจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.ปราจีนบุรี (TES-PRI) ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ / PPA 8.0 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน (TES-CNT) จ.ชัยนาท ขนาด 8.0 เมกะวัตต์ / PPA 6.0 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.อุบลราชธานี (TES-UBN) ขนาด 9.0 เมกะวัตต์ / PPA 8.0 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.สมุทรสาคร (TES-TCN) ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ / PPA 8.0 เมกะวัตต์
เบื้องต้นคาดว่าในช่วงเดือน ก.ย. 65 จะได้ข้อสรุปการกระกาศผล 2 โครงการ และปลายปีนี้ อีก 2 โครงการ โดยบริษัทมีความมั่นใจว่าจะชนะการประมูลทั้ง 4 โครงการ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 67 เป็นต้นไป ทั้งนี้ คาดว่ากว่าจะแล้วเสร็จพร้อม COD อาจใช้เวลาไปอีก 36 เดือน นับจากนี้ไป
นายศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งโรงไฟฟ้าเป็นไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ภายในปี 75 เน้นลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ รับโอกาสเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ Green Energy และ นโยบายของภาครัฐที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ พร้อมหาโอกาสขยายธุรกิจและการลงทุนที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกใหม่ๆ รวมทั้งแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดการเติบโตในอนาคต
ส่วนนางสาวพัชรา ทองประไพ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน TGE กล่าวว่า ผลการดำเนินงานช่วงปี 62-64 มีรายได้รวม 347.5 ล้านบาท 713.5 ล้านบาท และ 807.5 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 52.4% ต่อปี ปัจจัยมาจากการเปิด COD โรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างต่อเนื่อง ทำให้รับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้า รวมถึงรายได้จากการขายน้ำและไอน้ำ อีกทั้งในปี 63 เริ่มมีรายได้จากการให้บริการกำจัดขยะจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดสระแก้ว
ส่วนกำไรสุทธิปี 62-64 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 94.3 ล้านบาท 166.9 ล้านบาท และ 202.1 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นผลจากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การควบคุมบริหารจัดการต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มีประสิทธิภาพ และอัตราการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น
ขณะที่ไตรมาส 1/65 มีรายได้รวม 233.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 51.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการ COD โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TBP จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำและไอน้ำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ดี บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิที่ 23.3% ลดลงเล็กน้อยจาก 27.4% ในช่วงไตรมาส 1/64 จากผลกระทบการปิดระบบสายส่งเป็นครั้งคราวจากการปรับปรุงถนนของกรมทางหลวงทำให้ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ