นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) เปิดเผยว่า บริษัทมองว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันจะส่งผลดีต่อธุรกิจธนาคารในไทย เพราะจะกลุ่มลูกค้าบางกลุ่มในไต้หวันที่มีการย้ายการลงทุนมาในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงย้ายไปเวียดนาม ทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมีความต้องการเงินลงทุน หรือบริการทางการเงินในรูปแบบอื่นๆเข้ามามมากขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกของธุรกิจธนาคารในประเทศไทยที่จะได้รับอานิสงส์ดังกล่าว ซึ่งทางกลุ่ม LHFG ตั้งเป้าหมายกลุ่มลูกค้าไต้หวันในปี 65 เติบโต 60% โดยปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าไต้หวันที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยราว 5,000 ราย
นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปี 65 ไว้ที่ 6-7% แม้ว่า 6 เดือนจะเติบโตมากกว่าเป้า 8.9% เพราะปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน รวมทั้งสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลให้ธนาคารยังใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่ยังต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจบางกลุ่มที่อาจจะทีความเสี่ยงในความไม่แน่นอนดังกล่าวที่เกิดขึ้น
"เรายังคงระมัดระวังในการทำธุรกิจธนาคาร เพราะยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆทั้งรัสเซียกับยูเครน รวมถึงจีนและไต้หวัน ที่เข้ามากระทบความมั่นใจ แม้ว่าในครึ่งปีแรกสินเชื่อเราจะเติบโตได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่เราก็ไม่เร่งคันเร่งมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่มีอยู่"นางสาวชมภูนุช กล่าว
สำหรับสัดส่วนสินเชื่อของธนาคารในปัจจุบันยังอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่กว่า 46% สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อเอสเอ็มอี 37% โดยกลยุทธ์ของธนาคารในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 65-67) ธนาคารจะเน้นขยายสินเชื่อในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง ได้แก่ สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อ Digital Lending มากขึ้น โดยจะขยายสัดส่วนให้เพิ่มขึ้นมาที่ 50% ภายใน 3 ปีนี้ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับธนาคาร โดยธนาคารได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์ Ascend ปล่อยสินเชื่อดังกล่าวไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้ 180 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าปล่อยในช่วง 1 ปี แตะ 1 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันธนาคารยังได้นำระบบ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น และ ธนาคารอยู่ระหว่างพัฒนาบริการใหม่บนแพลตฟอร์ม Profita คือ บริการ ROBO Advisor เป็นบริการวางแผนการลงทุน และ จัดพอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติที่ออกแบบ และ คัดสรรโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งจะมีการติดตามและปรับสัดส่วนการลงทุน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ ROBO Advisor ในไตรมาส 4/65
ด้านอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) สิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 200% จากปัจจุบันอยู่ที่ 196% และสิ้นปีนีธนาคารจะคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปีนี้ไม่เกิน 2.5-2.6% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.4%
นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFUND) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญกับความผันผวน และมีปัจจัยกดดันต่างๆเข้ามาค่อนข้างมาก ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงการลดขนาดสินทรัพย์ของธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งยังมีประเด็นที่ยืดเยื้อของสงครามรัสเซียและยูเครน รวมถึงประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ๆของประเทศขนาดใหญ่ที่กดดันทำให้ตลาดเกิดความผันผวนมากในปีนี้ ซึ่งมีผลกนะทบค่อนข้างมากในหุ้นกลุ่ม Growth ที่ราคาปรับตัวลดลงมาก และทางบลจ.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ มีกองทุนรวมหุ้นกลุ่ม Growth ที่เสนอขายอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ได่รับผลกระทบในด้านมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ที่ลดลงไปในช่วงที่ผ่านมา
โดย AUM ของ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ในปัจจุบันปรับลดลงมาที่ระดับ 7.9 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้มองว่านักลงทุนยังคงชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนของปัจจัยต่างๆไปก่อน โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนค่อนข้างมาก แต่มองว่าในช่วงปลายปีนี้นักลงทุนจะเริ่มทยอยกลับมบลงทุนอีกครั้ง และภาวะของตลาดหุ้นจะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวขึ้น หลังจากปัจจัยกดดันต่างๆเริ่มคลี่คลายลงไป ทำให้มูลค่ากองทุนกลับมาฟื้นตัว รวมถึงนักลงทุนบางรายที่ต้องการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีจะเข้ามาซื้อกองทุนอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้ AUM ในช่วงสิ้นปีนี้จะกลับขึ้นมาตามเป้าที่ระดับ 8.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังมองว่าการมองหาประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสในระยะยาวที่เห็นการเติบโตอย่างมีในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ และการลงทุนในหุ้นถือเป็นโอกาสที่ดี หลังจากที่ตลาดปรับตัวลงมา ทำให้สามารถเข้าลงทุนในจังหวะที่ราคาเหมาะสมและคุ้มค่า ซึ่งคำแนะนำในการลงทุนนั้นประเทศที่มองเห็นศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว คือ เวียดนาม ซึ่งมีอัพไซด์การเติบโตทางเศรษงฐกิจที่สูงในปัจจุบันและอนาคต และมูลค่าในปัจจุบันที่ปรับลงมา ถือว่าเป็นประเทศที่มีราคาหุ้นที่ยังไม่แพง และมีโอกาสในอนาคต จึงเป็นประเทศที่แนะนำให้นักลงทุนมองหาจังหวะในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม
ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยยังถือเป็นประเทศที่มีความผันผวนที่ค่อนข้างต่ำ จากที่ทิศทางของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับขึ้นและลงไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ จึงมองว่ายังมีโอกาสในการจับจังหวะการเข้าลงทุนเพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยได้ โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดกลางที่เป็นกลุ่มหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่มองว่าหุ้นไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง ซึ่งดัชนีที่ระดับ 1,650 จุด ถือว่าเป็นระดับที่แพง การลงทุนจะเป็นการจับจังหวะในการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น และมองว่าหุ้นสหรัฐฯยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ยังมีโอกาสในการเข้าลงทุนได้ จากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯที่ยังออกมาแข็งแกร่ง
ด้านกลุ่มหุ้นที่มองว่าเป็นโอกาสการเข้าลงทุนในภาวะความผันผวนในปัจจุบันนั้นมองว่ายังคงเป็นกลุ่มหุ้นที่ Value และหุ้นที่เติบโตตามวัฏจักร ซึ่งอิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง มีความมั่นคงในธุรกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางบลจ.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ จะมีการออกกองทุนใหม่ที่เป็นกองทุนต่างประเทศในกลุ่มหุ้นดังกล่าวออกมานำเสนอให้กับนักลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วยเช่นกัน
นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมุมมองดัชนี SET ที่ระดับ 1,700 จุด โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังชะลอการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้ดัชนียังคงมีการแกว่งตัวไซด์เวย์ แต่มองว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4/65 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีแรงซื้อจากสถาบันเข้ามาช่วยหนุนดัชนี
ด้านเป้าหมายการเพิ่มฐานบัญชีลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์รายใหม่ของบริษัทในปีนี้วางเป้าไว้ที่ 1,500 บัญชี ซึ่งในครึ่งปีแรกสามารถเพิ่มลูกค้ารายใหญ่เข้ามาได้แล้ว 600 บัญชี โดยที่ในครึ่งปีแรกบริษัทมีฐานนูกค้าทั้งหมด 12,000 บัญชี เป็นบัญชีที่ Active ราว 5,000-6,000 บัญชี
ส่วนการออกผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนใหม่ของบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนออกผลิตภัณฑ์ DR ที่อ้างอิงกับหุ้นกลุ่ม Semiconductor ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไต้หวั่น ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไต้หวั่นและจีน ทำให้บริษัทยังรอติดตามสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน หากยังมีความไม่แน่นอนอาจจะเลื่อนไปออกในช่วงปี 66 แทน