นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม (THCOM) คาดว่า ทิศทางธุรกิจในครึ่งหลังปี 65 บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องหลังจากครึ่งแรกปีนี้กำไรสุทธิปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งเตรียมสร้างรายได้ใหม่จากธุรกิจดาวเทียม Leo และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ (Space)
บริษัทได้ Turnaround จากลบเป็นบวก โดย Core Profit ซึ่งเป็นกำไรที่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ในครึ่งแรกปี 65 มี Core Profit ที่ 338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 106 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทุธิ ครึ่งปีแรกปีนี้ อยู่ที่ 360 ล้านบาท เพิ่มจาก 70 ล้านบาทหรือ สูงขึ้น 413% จากครึ่งแรกปี 64
เนื่องจากการโครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนจากระบบสัมปทานที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 22.5% และมีค่าเสื่อมาราคา ได้หมดอายุเมื่อปี 64 มาเป็น Commercial leasing model ซึ่งบริษัทเช่าจากบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) สำหรับดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 และใบอนุญาตที่ จ่าย 4% ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้บริษัทเทิร์นอะราวด์ได้ และทำให้ Ebitda Margin ก็ปรับตัวสูงขึ้นมา 45-50% จากเดิมกว่า 30%
"บริษัทมีกำไรยั่งยืนแล้ว แต่จะทำให้บริษัทโตในหลายมิติ เรามองไทยคมเป็น Space Tech Company ไม่ใช่บริษัทดาวเทียม อย่างไรก็ตามธุรกิจดาวเทียมก็ยังเป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยทิศทางอนาคตของบริษัทก็ยังเดินหน้าธุรกิจดาวเทียมต่อไป โดยปัจจุบันบริษัทเตรียมความพร้อมสร้างดาวเทียมดวงใหม่เพื่อมาต่อยอดบริการให้กับลูกค้า และดาวเทียมดวงใหม่จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และต้นทุนต่อหน่วยก็ลดลงด้วย ควบคู่กับเตรียมร่วมการประมูลวงโคจรของ สำนักงาน กสทช.ในสิ้นปีนี้"
นอกจากนี้ บริษัทฯได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับบริษัท โกลบอลสตาร์ ผู้ให้บริการด้านสื่อสารดาวเทียม จากสหรัฐ ซึ่งมึความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO Satellite) และยังมีหลายรายที่บริษัทกำลังเจรจาอยู่ โดยการเป็นพันธมิตรกับโกลบอลสตาร์ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในไทยและภูมิภาคนี้
นายปฐมภพ กล่าวว่า บริษัทยังได้เซ็นสัญญากับ NXTDigirtal เป็น Media arm ของกลุ่ม Hinduja Group เป็นกลุ่มบริษัทใหญ่ในประเทศอินเดีย ซึ่งบริษัทมองอินเดียเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการใช้ดาวเทียมสูง เพราะมีจำนวนประชากรจำนวนมาก ความต้องการจึงสูง และไม่มีทางที่จะลากสายไฟเบอร์ทั่วอินเดียใน 50 ปีได้ ดังนั้นดาวเทียมจึงมีบทบาทสำคัญในอินเดีย และการเป็นพันธมิตรกับ NXTDigirtal ก็จะทำให้สร้างโอกาสธุรกิจให้กับบริษัทด้วย
"เราจะโฟกัสการสร้างโอกาสในประเทศอินเดีย เพราะว่าเรามองว่า ประเทศอินเดียมีศักยภาพสูง และมีความต้องการเยอะในเรื่องการสื่อสารผ่านดาวเทียมซึ่งได้จับมือกับพาร์เนอร์คือ Hinduja Group โดยขณะนี้ได้ทำการตลาดศึกษาเพิ่มเติม และทดสอบตลาดอยู่ ดังนั้น ในปีนี้และปีถัดๆไป อินเดียจะเป็นอนาคตของไทยคม และหากประสบความสำเร็จ โอกาสธุรกิจในอินเดียจะใหญ่กว่าในประเทศไทยหลายเท่าทั้งจากดีมานด์และ size ของตลาดเป็นอันดับต้นๆของโลก"
ขณะเดียวกัน บริษัทยังจะนำดาวเทียมที่มีอยู่ ซึ่งได้เช่าใช้ดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมอื่น ไปปูพื้นในตลาดอินเดีย อีก 2 ปี และต่อเนื่องไปดาวเทียมดวงใหม่ซึ่งใช้เวลาสร้าง 2-3 ปี ดังนั้นดาวเทียมดวงใหม่จะไม่ได้เริ่มต้นที่ศูนย์ แต่จะต่อเนื่องจากดาวเทียมที่ให้บริการก่อนหน้า
นายปฐมภพ ยังกล่าวว่า นอกเหรือธุรกิจ Satellite Broadbrand แล้ว โอกาสธุรกิจกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอินเดียก็ยังนำเทคโนโลยี AI/ML และ Satellite data analytic มาใช้ประโยชน์ในอินเดียเพราะปัญหาของอินเดียก็คล้ายกับไทย อาทิ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม การบริหารจัดการพื้นที่ ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อสร้าง solution ให้กับประเทศอินเดีย
นอกจากนี้บริษัทยังมองถึงการขยายธุรกิจเข้าไป New Space เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ซึ่งทั่วโลกให้ความสนใจมาก และมีโอกาสในธุรกิจมากมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโลก โดยบริษัทได้เซ็นสัญญาเป็น Strategic Partner กับบริษัท Orbital Insight ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำจากสหรัฐฯ ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมให้เป็นธุรกิจต่อไป ใช้เทคโนโลยี AI/ML ในการประมวล วิเคราะห์ข้อมูล นำไปใช้ Smart City , ความมั่นคง , สถาบันการเงิน ทั้งธนาคาร บริษัทประกัน ที่สามารถวิเคราะห์เทรนเศรษฐกิจได้
"ระหว่างที่สร้างกำไรได้ในปีนี้เรากำลังสร้างโอกาสสำหรับอนาคต ซึ่งโอกาสในอนาคตของไทยคม มี 2-3 มิติ มิติแรกคือการต่อยอดธุรกิจดาวเทียม ซึ่งเรากำลังวางแผนสร้างดาวเทียมดวงใหม่ภายในสิ้นปีนี้ อันที่สองเป็น partnership กับกลุ่มธุรกิจ Leo และนำเทคโนโลยี Leo มาใช้ในประเทศไทยและเพิ่มรายได้ให้กับไทยคม และมิติที่ 3 เรากำลังลงทุนใน New space ซึ่งเราร่วมือกับบริษัท top ของโลกนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดมาสร้างรายได้ใหม่ๆในระยะกลางและระยะยาว"นายปฐมภพ กล่าว
นายอนุวัตร สงวนทรัพยากร หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการเงิน THCOM กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 50-100 ล้านบาท ใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพดาวเทียม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการร่วมลงทุนกับโกลบอลสตาร์ ในการสร้างเกตเวย์
ส่วนงบลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นกับขนาด หากเป็นดาวเทียมขนาดไทยคม 8 มีงบลงทุน 150-200 ล้านเหรียญ ส่วนดาวเทียมขนาดใหญ่ไทยคม 4 ก็จะมีงบลงทุน 350-400 ล้านเหรียญ ทั้งนี้บริษัทจะลงทุนขนาดไหนจะพิจารณาว่า slot ที่จะเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมของกสทช. จะเป็น Slot ใด ว่าเป็นขนาดไหนจะลงทุนคุ้มกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อจัดหาเงินลงทุนสร้างดาวเทียมดวงใหม่ เพราะมีธนาคารเอ็กซิมแบงก์ทั้งสหรัฐและยุโรปเป็น Supporter Credit ให้กับบริษัทดาวเทียมอยู่แล้ว
ณ สิ้นไตรมาส 2/65 บริษัทมีเงินสดในมือ 5.5 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/64 ที่มี 7.2 พันล้านบาท