KTC คาดสินเชื่อส่วนบุคคลปี65 โต 7%ตามเป้า,ผนึก XPG รุกสินเชื่อดิจิทัลเจาะคนรุ่นใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 10, 2022 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 65 ยังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 7% หลังจากครึ่งปีแรกเติบโตแล้ว 3.3%โดยล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับบมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) หรือ XSpring สร้างมิติใหม่ของวงการสินเชื่อ-การเงินดิจิทัล ที่จะเป็นโอกาสให้เคทีซีได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ดิจิทัล ด้วยการนำเสนอ บัตรกดเงินสด "เคทีซี-เอ็กซ์สปริง" (KTC - XSPRING) ซึ่งเป็นวงเงินสินเชื่อพร้อมใช้ที่มีความยืดหยุ่น สามารถเบิกใช้วงเงิน และชำระคืนได้ตามความประสงค์
โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสริมสภาพคล่องทางการเงิน ช่วยให้สมาชิกได้ใช้ชีวิตเต็มที่แบบไม่มีสะดุด กับบัตรกดเงินสดดีไซน์แนวตั้งแบบโมเดิร์นรับกับยุคดิจิทัล พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่มาครบทั้งรูด-โอน-กด และเหนือกว่าด้วยจุดแข็งของมาสเตอร์การ์ด ซึ่งมีเครือข่ายร้านค้าขนาดใหญ่กระจายอยู่กว่า 80 ล้าน ร้านค้าทั่วโลก ทำให้สมาชิกสามารถใช้ บัตรกดเงินสด "เคทีซี-เอ็กซ์สปริง" (KTC - XSPRING) ได้สะดวกขึ้น และเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่ต้องการความสะดวก ปลอดภัย ไร้สัมผัส สมาชิกบัตรฯ สามารถช้อปออนไลน์ได้ทุกร้านค้า ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งสามารถโอนเงินเรียลไทม์ผ่านแอปฯ "KTC Mobile" เข้าบัญชีธนาคารได้ถึง 15 ธนาคาร และกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มได้ตลอด 24 ชั่วโมง ฟรีค่าธรรมเนียมอีกด้วย โดยเคทีซีคาดหวังว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มยอดสมาชิกสินเชื่อรายใหม่ และสร้างการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย รวมถึง ส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อบุคคลที่สูงขึ้นได้

ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้จะควบคุมไม่ให้เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.8%

ส่วนมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%นั้น มองว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอกเบี้ยขึ้นในช่วง 1-2 ปี (ปี 66-67) เนื่องจากบริษัทมีการบริหารต้นทุน และมีเงินทุนระยะยาวที่ขอกับสถาบันการเงินไว้ ซึ่งดอกเบี้ยเป็นแบบ fix rate ซึ่งบริษัทมองว่ากนง.ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากกว่า 0.25% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 0.50% บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะต้นทุนทางการเงินที่เป็นดอกเบี้ยระยาวมีสัดส่วนที่มาก หรือคิดเป็น 80% ของต้นทุนทางการเงินทั้งหมด

อย่างไรก็ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจจะมีผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจได้ และอาจส่งผลไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการสอบถามกับผู้ประกอบการถึงสภาวะดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยที่ปัจจุบันผู้ประกอบการยังคุมเพดานดอกเบี้ยไว้ที่ 25% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ