นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หลังจาก บมจ.โพลีเน็ต (POLY) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 26.7% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของ POLY ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจ ยานยนต์ (AUTO) ภายในปี 2565
โดย POLY มีความพร้อมสำหรับการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) เพื่อให้บริษัทก้าวสู่ความเป็นเลิศ ในฐานะหนึ่งในผู้นำธุรกิจชิ้นส่วนในอุตสาหกรรม ที่มีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบครบวงจร (One-Stop Services) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและมีอุปสงค์ต่อสินค้าในอุตสาหกรรมนั้นสูง ด้วยทีมผู้บริหารที่มากด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี มีการมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพและการจัดการในหลายด้านในระดับสากลการเข้ามาระดมทุนในครั้งนี้ จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิต และขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ POLY เตรียมนำไปใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และใช้สำหรับลงทุนในโครงการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม รวมทั้ง ใช้จ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโต ด้วยต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
ด้านนางกาญจนา เหลารัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โพลีเน็ต (POLY) เปิดเผยว่า การระดมทุนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง และเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความสำเร็จของเราในฐานะผู้ผลิตชั้นนำในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ ยาง พลาสติก ซิลิโคน และแม่พิมพ์สำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ชั้นนำของประเทศไทย
ตลอดจน ขยายการเติบโตรองรับกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (Automotive) ซึ่งนับว่าในประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และในปี 2564 เริ่มเห็นแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น มียอดผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึง เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นโอกาสของบริษัทในอนาคต เนื่องจากความต้องการด้านชิ้นส่วนมีความจำเป็นต่อทั้งรถยนต์เครื่องสันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ POLY ยังขยายไปยังลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical) ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่ต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิต ซึ่งต้องมีทักษะความชำนาญและเทคโนโลยีการผลิตสูง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการรักษา อีกทั้ง ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกและนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สูงสุดในอาเซียน สอดรับกับสัดส่วนรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้ของบริษัทฯ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รวมทั้ง อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) อาทิ ตลาดภาชนะและบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใช้ในครัวเรือน เพื่อตอบรับกระแสรักสุขภาพและรักษ์โลกนอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมขยายฐานลูกค้าไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เป็นโอกาส
ขณะที่ ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2565 POLY มีรายได้รวม 271.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 183.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 48.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 29.8 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 17.8% จาก 15.4% ในปี 2564 แม้มีปัจจัยกดดันอัตรากำไรขั้นต้น ได้แก่ การปรับขึ้นราคาของวัตถุดิบปิโตรเคมีจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ยังคงความสามารถในการทำกำไร ขณะที่อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 3.0% ในปี 2562 สู่ 28.2% ในงวดไตรมาส 1/2565 โดยหลักเกิดจากอัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากการขยายฐานรายได้จากทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายมาจากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ 56.3% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 31.9% และกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ 11.8%
ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2564) บริษัทฯ มีรายได้รวม 581.7 ล้านบาท 523.2 ล้านบาท และ 787.1 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากการขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และปรับกลยุทธ์ในด้านกำลังการผลิตใหม่ ส่งผลให้ กำไรสุทธิอยู่ที่ 13.1 ล้านบาท 21.8 ล้านบาท และ 120.9 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์และอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้ง การใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17.7% 19.2% และ 28.3% อัตรากำไรสุทธิ 2.3% 4.2% และ 15.4% ตามลำดับ