TSTH ปรับกลยุทธ์หันเน้นส่งออกประคองยอดขายหลังดีมานด์ในประเทศยังหดตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 17, 2022 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์หันมาเน้นการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากไตรมาส 1/65 (เม.ย.-มิ.ย. 65) ยอดขายชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาที่ 308,000 ตัน เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศยังหดตัวหลังจากผู้ประกอบการไม่เร่งกลับมาลงทุนมากนัก เพราะเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวกลับมาจากการกลับมาเปิดเมืองและเปิดประเทศ

ในไตรมาส 1/65 ความต้องใช้เหล็กในประเทศหดตัวลงไป 13% และคาดว่าทั้งปีนี้ยังคงเห็นตัวเลขติดลบต่อเนื่อง โดยบริษัทมองว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็กยังคงต้องรอระยะเวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนจากนี้ เพื่อให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศกลับมามากขึ้น ทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มภาคการผลิตที่ต้องขยายโรงงาน โดยขณะนี้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ยังคงใช้ความระมัดระวังในการลงทุนจากความเสี่ยงของปัจจัยต่างๆ

นอกจากนั้น ในส่วนของภาครัฐยังต้องรอการผลักดันการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อความต้องการใช้เหล็กให้กลับมาฟื้นตัว

ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ปริมาณการขายเหล็กในครึ่งปีแรกของงวดปี 65/66 (เม.ย.-ก.ย. 65) จะทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 672,000 ตัน โดยกลยุทธ์ในการช่วยประคองให้ปริมาณการขายจะหันมาเน้นการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่ชะลอตัวลงไป โดยเฉพาะในตลาดใหม่ อย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งบริษัทได้เริ่มส่งออกไปยังแคนาดาแล้วในช่วงไตรมาส 1/65 และจะทยอยส่งออกไปยังตลาดอื่นเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการส่งออกของบริษัทเพิ่มเป็น 13-15% ในปีนี้จากปัจจุบันที่ 6%

"หากในช่วงครึ่งปีหลังความต้องการใช้เหล็กในประเทศพลิกกลับมาฟื้นตัว เราก็มีโอกาสกลับมาขายเหล็กในประเทศมากขึ้น ซึ่งเรายังคงเน้นทำขายเหล็กในประเทศไทยเป็นหลัก แต่ตอนนี้ตลาดต่างประเทศความต้องการใช้มีสูงกว่า ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการขายและหันมาเน้นตลาดต่างประเทศก่อน" นายราจีฟ กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตอีก 3-5% เพื่อรองรับการขายทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเหล็กแท่งราว 1.4 ล้านตัน/ปี และเหล็กลวดราว 1.7 ล้านตัน/ปี ส่วนต้นทุนการผลิตเหล็กยอมรับว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาต้นทุนเศษเหล็กปรับเพิ่มขึ้น 1,500-2,000 บาท/ตัน ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเหล็กเพิ่มข่นอีกราว 500 บาท/ตัน

ดังนั้น บริษัทจะทยอยปรับราคาขายเหล็กให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพื่อทำให้บริษัทยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับที่ดี แม้ว่าในช่วงแรกหรือในช่วงครึ่งปีแรกนี้จะมีแรงกดดันต่อกำไรเข้ามาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ