BEM คาดธุรกิจทางด่วน-รถไฟฟ้าจะกลับมาโตใกล้เคียงก่อนโควิดในปลายปี 65- 66

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 17, 2022 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บัญชีและการเงิน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คาดธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้าจะกลับมาโตเท่าช่วงก่อนเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 ในปลายปี 65 - 66 หลังจากธุรกิจทางด่วนในปัจจุบันมีปริมาณจราจร 1.1 ล้านคัน/วัน หรือ 90% ของก่อนเกิดโควิด ที่มีปริมาณจราจร 1.2 ล้านคัน/วัน หลังเปิดประเทศมากขึ้นและการกลับเปิดโรงเรียน ก็มีการเดินทางมากขึ้น โดยในปี 63 บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 1.05 ล้านคัน/วัน หรือกระทบ 15% และในปี 64 กระทบมากขึ้นจากการแพร่ะระบาดสายพันธ์เดลตา ทำให้ปริมาณจราจรหายไป 20% มาเฉลี่ยที่ 8.5 แสนคัน/วัน โดยบริษัทรับผลกระทบปี 63-64 ราว 30% ส่วนในปี 65 ครึ่งปีแรกรับผลกระทบจากการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน

ส่วนธุรกิจรถไฟฟ้า โดยปกติจะมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 3 แสนเที่ยวคน/วัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสาร 3.5 แสนเที่ยวคน/วันในวันธรรมดา โดยวันศุกร์ตัวเลขจะขึ้นไปถึง 3.8 แสนเที่ยวคน/วัน จากปี 63-64 ที่รับผลกระทบจากการระบาดโควิดที่มีจำนวนผู้โดยสารในปี 63 เฉลี่ย 2.6 แสนเที่ยวคน/วัน และในปี 64 เฉลี่ย 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน บางวันมีผู้โดยสารหมื่นกว่า แต่ในครึ่งแรกปีนี้ผู้โดยสารไต่ขึ้นมากว่า 2 แสนเที่ยวคน/วันแล้ว นอกจากนี้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะเปิดในเดือนก.ย.นี้และมีสัปดาห์หนังสือทำให้คาดว่ามีผู้โดยสารมากขึ้น

"ทางด่วนกลับมาเป็น V shape ส่วนรถไฟฟ้าค่อยๆกลับมาดีขึ้น เพราะรถไฟฟ้าเป็นขนส่งสาธารณะ ซึ่งปริมาณผู้โดยสารกลับมาแล้ว คาดว่าสิ้นปีนี้ ถึงปีหน้า ลุ้นเท่ากับช่วงก่อนโควิด"น.ส.ปาหนัน กล่าวในงานสัมนาช่วง"หุ้นเมกะเทรนด์...ไม่กลัวเงินเฟ้อ"

ทั้งนี้ รายได้ค่าผ่านทางหรือค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ถูกกำหนดตามสัญญาสัมปทานไว้แล้ว โดยค่าผ่านทางด่วนจะปรับขึ้นครั้งต่อไปในปี 2571 โดยทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชจะปรับขึ้น 1 ก.ย.71 ส่วนทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครปรับขึ้นแล้วเมื่อ 15 ธ.ค.64 และ ทางพิเศษอุดรรัถยา จะปรับค่าผ่านมางครั้งต่อไปในวันที่ 1 พ.ย.71

น.ส.ปาหนัน กล่าวว่า โครงการอนาคตที่บริษัทกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ ทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ที่จะเริ่มงามวงศ์วาน-อโศก-ศรีนครินทร์ ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษา EIA ขณะที่ธุรกิจรถไฟฟ้า บริษัทเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรอการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

ขณะเดียวกันบริษัทได้บริหารจัดการต้นทุนให้ได้ดี เพราะธุรกิจบริษัทมีลักษณะการใช้เงินลงทุนสูงในช่วงต้นโครงการ บริษัทได้ปรับสัดส่วนดอกเบี้ยลอยตัวมาเป็นดอกเบี้ยคงที่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ปรับพอร์ตเป็นหุ้นกู้ ที่มีอัตราคงที่ ทำให้พอร์ตหนี้เงินกู้มีดอกเบี้ยลอยตัวเพียง 20% โดยปี 64 บริษัทได้ออกหุ้นกู้ยั่งยืนครั้งแรก วงเงิน 6 พันล้านบาท และได้รับการตอบรับมากมีนักลงทุนแสดงความต้องการสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท ส่วนในปีนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ยั่งยืน วงเงินราว 3-4 พันล้านบาทในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ