นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนีตี้ คาดว่า ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 65 จะอยู่ในทิศทางของการไซด์เวย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปีที่ระดับ 1,690-1,700 จุด ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากการดำเนินนโยบายการเปิดประเทศ และ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ในขณะเดียวกันคาดว่าประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางออกนอกประเทศได้ใน 3-6 เดือน
สำหรับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบสูงสุดในไตรมาส 3/65 และจะปรับขึ้นเป็นบวกระดับ 4% ของ GDP ในปี 66 (เปรียบเทียบ+10% ของ GDP ในช่วงก่อน เกิด COVID) คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% ของ GDP ในไตรมาส 3 และเป็น 5% ของ GDP ในไตรมาส 4 และอาจเพิ่มเป็น 7% ของ GDP ในไตรมาส 1/66 ขณะที่การเติบโตของฐานเงินอย่างกว้างหรือ M2 เพิ่มขึ้น 6.20% ในเดือน มิ.ย. 65 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี บ่งบอกถึงสภาพคล่องเริ่มดีขึ้น
นอกจากนี้อัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ยังมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จากปัจจุบันที่มี EPS ของตลาดที่ 106.5 บาท และ Forward PE (X) ที่ 15.9X อีกทั้ง นับตั้งแต่ต้นปี 65 จนถึงปัจจุบัน สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ผลตอบแทนติดลบตั้งแต่ -1.8% ถึง -50% แต่ตลาดหุ้นไทยยัง Outperform ตลาดหุ้นโลก
พร้อมกันนี้ทิศทางเงินทุนต่างประเทศยังคงไหลเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในเดือน ส.ค. ซึ่งถือเป็น Renewed ของเงินทุนต่างชาติ หรือ การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติรอบใหม่ โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในตลาดหุ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความกลัวเศรษฐกิจถดถอย
ในส่วนของมุมมองด้านเงินเฟ้อ มองว่าเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย อาจจะถึงจุดสูงสุด ในไตรมาส 3 ปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว และคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย ของประเทศไทย จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 0.25% ต่อครั้ง คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ใน 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1.5% ในกลางปี 66 แต่ยังถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน อย่างไรก็ดียังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ในเดือนก.ค. 65 และการที่ค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสปรับขึ้นได้ 5-8% ทำให้ Core Inflation มีโอกาสสูงกว่าที่เป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 1-3%
ด้านของมุมมองค่าเงินบาท มองว่านับตั้งแต่สิ้น เดือน ก.ค. 65 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในสกุลเงินอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 4% และคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากการส่งออกเงินปันผลของนักลงทุนต่างประเทศช่วงเดือน ก.ย. 65 ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.5%
"เราต้องจับตาการปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือน ก.ย. ของสหรัฐหากออกมาในระดับที่ 0.50% จะไม่เป็นผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก แต่หากปรับขึ้นในระดับ 0.75% หรือมากกว่า ก็อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่มองว่าจะสะดุดช่วงสั้นเท่านั้น ภาพใหญ่ยังคงเป็นขาขึ้นอยู่ ซึ่งทิศทางเงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และ มองว่าการเมืองในประเทศไม่ได้กระทบมากนัก โดยการปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยครั้งนี้มาอย่างแข็งแกร่งจากภาพของ EPS ที่ยังมีโอกาสที่จะปรับประมาณการเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้อีก"นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ แนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ในสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต ในช่วงที่เหลือของปี 65 โดยสินทรัพย์ที่แนะนำลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นไทย 25% ตลาดหุ้นเวียดนาม 10-15% ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว 10% ตราสารหนี้โลก 25% ทองคำ 5% Weighting ในกลุ่มน้ำมัน และ Commodity 5% และถือเงินสด 15-20% เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงยังไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังไม่คาดการณ์
ทรีนีตี้ยังแนะนำให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ในกลุ่มหุ้นที่เป็น "Thematic Play" ที่ได้สร้างแบบจำลองทาง Macro Economic 4 ธีมหลัก ได้แก่
ธีมที่ 1 บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง (reopening) และการท่องเที่ยว มองว่าประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางออกนอกประเทศได้ใน 3-12 เดือนข้างหน้า
ธีมที่ 2 บริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า
ธีมที่ 3 หุ้นปันผลสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation hedge )
ธีมที่ 4 บริษัทได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มธนาคาร แต่การส่งผ่านการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบเศรษฐกิจนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลง