นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดรายได้ปี 65 จะเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดทำได้ 1.8 หมื่นล้านบาท หลังครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 8,221.17 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจโรงแรม (รวมที่ดูไบ) ที่ 2,600-2,700 ล้านบาท และธุรกิจอาหาร 5,500 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังก็คาดจะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยธุรกิจโรงแรม คาดไตรมาส 3/65 รายได้จะทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/65 จากอัตราการเข้าพัก (OCC) ที่คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 53% และไตรมาส 4/65 คาด OCC จะเฉลี่ยอยู่ที่ 60% จากเป็นช่วงของไฮซีซั่นของธุรกิจที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, เยอรมนี, รัสเซีย และตะวันออกกลาง ขณะที่ประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เริ่มดีขึ้น ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงอย่างที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคเฝ้าระวัง
อย่างไรก็ตามประเมิน OCC โดยภาพรวมทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 45-50% เพิ่มขึ้น 4% จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) จะอยู่ที่ 1,900-2,200 บาท
สำหรับธุรกิจอาหาร ภาพรวม 6 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ถือว่าทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และคาดว่าไตรมาส 3/65 จะเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ไตรมาสนี้จะมียอดขายต่อสาขาเดิม (SSS) จะเติบโตสูงที่สุด รวมถึงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/65 SSS ก็ยังมีการเติบโตด้วย ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีการปรับราคาอาหารขึ้นในช่วงปลายเดือนก.ค.65 ทำให้น่าจะสามารถชดเชยกับต้นทุนที่ปรับตัวขึ้นมาได้
"ภาพรวมยอดขายจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างดี ส่วนเงินเฟ้อ หรือต้นทุนที่สูงขึ้น คาดว่าจะสามารถควบคุมได้ เนื่องจากหลายตัวที่ขึ้นไปค่อนข้างสูง เริ่มมีแนวโนมที่ลดลงแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเราคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายเพียง 0.1-0.2% เท่านั้น โดยยังสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากบริษัทมีการบริการจัดการภายในองค์กร และควบคุมต้นทุนได้ดีต่อเนื่อง คาดว่าจะครอบคลุมผลกระทบด้านค่าแรงได้"
ทั้งนี้คาดยอดขายต่อสาขาเดิม (SSS) ในปีนี้ จะเติบโต 10-15% จากปีก่อน และคาดยอดขายรวมทุกสาขา จะเติบโต 20-25% จากปีก่อน
ส่วนความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูง ที่คาดอาจกระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ส่งผลเชิงต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวนั้น มองว่าอาจมีผลกระทบบ้าง แต่ด้วยค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่า ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ขณะที่ในธุรกิจอาหาร มองอาหารยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ และในพอร์ตก็มีร้านอาหารที่ราคาไม่สูงมากนัก รวมถึงยังมีการปรับเมนูอาหารให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ด้วย ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ตามที่คาดหวังไว้
นายกันย์ กล่าวว่า บริษัทฯ วางงบลงทุน 3 ปี (65-68) ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจโรงแรมและอาหาร แบ่งเป็น ปี 65 จะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท ใช้ในธุรกิจโรงแรม 1,800 ล้านบาท และธุรกิจอาหาร 1,300 ล้านบาท, ปี 66 อยู่ที่ 3,800 ล้านบาท ใช้ในธุรกิจโรงแรม 3,000 ล้านบาท และอาหาร 800 ล้านบาท, ในปี 67 อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ใช้ในโรงแรม 4,200 ล้านบาท และอาหาร 800 ล้านบาท