นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การแต่งตั้งกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)เพิ่มอีก 1 คนเมื่อกลางดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้คณะกรรมการ กสทช.เพิ่มขึ้นมาเป็น 6 คน จาก 7 ที่นั่ง คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการพิจารณาดีลควบรวมกิจการของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ทำให้อาจต้องล่าช้าออกไป 1-3 เดือน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีข้อสรุปไม่เกินสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร ข้าราชการบำนาญสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.(ด้านกฎหมาย) คนล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค.65 และอยู่ระหว่างรอโปรดเกล้า คาดหมายว่าจะเข้ามารับตำแหน่งได้ในช่วงต้นเดือนก.ย.65
ขณะที่บอร์ด กสทช.ที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมายังไม่สรุปเรื่องดีลควบรวม TRUE และ DTAC โดยมอบหมายให้ทางสำนักงาน กสทช.ไปทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติม ซึ่งสำนักงาน กสทช.ขอเวลา 30 วัน ก็เท่ากับต้นเดือนก.ย.หรือ 10 ก.ย. จะนำข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาในการประชุมบอร์ดกสทช.
นายพิสุทธ์ กล่าวว่า เมื่อมี กรรมการ กสทช.คนใหม่เข้ามาเชื่อว่าคงยังไม่สามารถออกความเห็นในเรื่องดังกล่าวในขณะที่เพิ่งเข้าร่วมประชุมเรื่องนี้เป็นครั้งแรก จึงมีความเป็นไปได้ที่ กสทช.จะต้องขยายเวลาออกไปอีก 30 วันเพื่อให้กรรมการคนใหม่ได้มีเวลาศึกษาข้อมูลทั้งหมด ก่อนที่จะโหวตรับการควบรวมกิจการหรือไม่
นายพิสุทธิ์ คาดว่า หากในการประชุมบอร์ด กสทช.ที่เลื่อนออกไป 30 วันไปเป็นต้นเดือน ต.ค.หรือวันที่ 10 ต.ค.65 โหวตผ่านให้กับการควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC หลังจากนั้นทั้งสองบริษัทจะสามารถดำเนินการขั้นตอนเทนเดอร์ออฟเฟอร์ได้ และเดือน ธ.ค.น่าจะอยู่ในช่วงแลกหุ้นและเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่
แต่หากการโหวตของบอร์ด กสทช.ล่าช้าออกไปเป็นเดือน พ.ย.ก็ยังสามารถเดินต่อไปได้ตามกำหนด เพราะจากการสอบถามนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน TRUE ระบุว่ามติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการทั้ง TRUE และ DTAC มีอายุ 1 ปี หรือสิ้นสุด 4 เม.ย.66 ดังนั้น ขั้นตอนการโหวตของบอร์ด กสทช.ในเรื่องนี้จะล่าช้าได้มากสุดคือในเดือน ก.พ.66 เพื่อให้ขั้นตอนต่าง ๆ ดำเนินการได้ตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม อีกเงื่อนเวลาที่สำคัญคืออายุรัฐบาลที่กำลังจะหมดไป หากรอให้มีการเลือกตั้งใหม่และได้รัฐบาลใหม่ เชื่อว่าดีลนี้น่าจะวุ่นวายมากขึ้น
นายพิสุทธิ์ ประเมินว่าการโหวตรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC น่าจะผ่านไปได้ในขั้นตอนของ กสทช. โดยอาจจะเกิดขึ้น 2 แนวทาง กรณีแรก โหวตรับด้วยคะแนน 3 ต่อ 3 โดยประธานบอร์ดเป็นผู้ตัดสิน คือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หรือกรณีที่สอง โหวตรับด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 2
แต่มาตรการเยียวยายังน่ากังวล แต่อาจจะไม่ใช่มาตรการเข้มงวดอย่างการคืนคลื่น เพราะ กสทช.เองก็ไม่มีช่องทางที่จะงบมาซื้อคืนคลื่นแต่อย่างใด
ส่วนมูลค่าหุ้น นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า หากไม่มีการควบรวมกิจการ ให้ราคาเป้าหมาย DTAC ที่ 35 บาท แต่หากดีลควบรวมสำเร็จ มูลค่าจะเพิ่มอีก 20 บาท เป็น 55 บาท ส่วน TRUE ให้ราคาเป้าหมาย 4.00 บาทหากไม่มีดีลควบรวมกิจการ แต่หากดีลเป็นไปด้วยดีมูลค่าจะเพิ่มอีก 2 บาทเป็นเป้าหมายใหม่ 6 บาท
นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า ดีลควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC เป็นเกมธุรกิจที่ทั้งสองได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะเมื่อรวมกันทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากควบรวมมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งแทนทันที โดย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ก็จะตกเป็นเบอร์สอง
ปัจจุบัน DTAC มีส่วนแบ่งการตลาดมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย หรือสัดส่วน 20% และ TRUE อยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย หรือ ส่วนแบ่งตลาด 34% ขณะที่ ADVANC อยู่ที่ 44.1 ล้านเลขหมาย หรือมีส่วนแบ่ง 46%
และที่สำคัญการควบรวมทำให้ต้นทุนธุรกิจของ TRUE และ DTAC ลดลง โดยที่ผ่านมา TRUE มีผลขาดทุน 4-5 พันล้านบาท ส่วน DTAC มีกำไรราว 3-4 พันล้านบาท เมื่อรวมกันกำไรจะเท่ากับศูนย์ ไม่ขาดทุน ขณะที่ ADVANC มีกำไรปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่รายได้ทั้งสองฝั่งเท่ากัน นั่นหมายความว่า TRUE-DTAC มีต้นทุนมากกว่า ADVANC
ดังนั้น การควบรวมกิจการจะทำให้ฝั่ง TRUE- DTAC มีรายได้กลับมาเติบโตอีกครั้งจากการแข่งขันที่ลดลง ไม่มีสงครามราคา ขณะที่ทรัพยากรมีเท่ากัน ทั้ง 5G และ Content รวมทั้งการประมูลคลื่นก้ไม่ต้องแข่งขันมากเหมือนในอดีต หาก TRUE-DTAC สามารถกลับมามีกำไรให้ได้ 1 ใน 3 ของ ADVANC หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ก็จะทำให้การควบรวมได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ส่วน ADVANC ไม่ได้ประโยชน์จากดีลนี้มากนัก เพราะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพการบริหารดีอยู่แล้ว
ขณะที่ ADVANC เข้าซื้อกิจการ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) 99.87% และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ที่ราคาหน่วยละ 8.50 บาท ด้วยมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาทนั้นทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจบรอดแบนด์ของเอไอเอสขึ้นเป็นอันดับ 2 จากอันดับ 4 และการแข่งขันลดลง ราคาเน็ตบ้านอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 บาท/เดือนทำให้รายได้อุตสาหกรรมฟื้นตัวตามไปด้วย
โดยปัจจุบัน TRUE มีส่วนแบ่งตลาดบรอดแบนด์เป็นอันดับ 1 ที่ 39% ผู้ใช้บริการ 4.7 ล้านราย 3BB มีลูกค้า 2.4 ล้านราย ส่วนแบ่ง 20% เป็นอันดับ 2 ส่วนผู้อันดับ 3 เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มีลูกค้า 2.0 ล้านราย มีส่วนแบ่ง 16% และ เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาด 15% จากฐานลูกค้า 15%
ส่วนแหล่งข่าวจาก กสทช. คาดว่าการประชุมบอร์ดต้นเดือนก.ย.น่าจะโหวตรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC เพราะเอกชนก็เร่งให้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว ประกอบกับ กรรมการคนใหม่ กสทช.ก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล อย่างไรก็ดี แม้จะโหวตรับการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC แต่ กสทช.ก็สามารถออกมาตรการเยียวยาด้วยได้ และหากยังทำตามมาตรการไม่ได้ก็ยังสามารถควบรวมกิจการกันได้
ด้าน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นการคืนคลื่นอาจเป็นอุปสรรคกับบริษัทควบรวมระหว่าง TRUE-DTAC หลังจากมีกระแสข่าวว่าผู้ประกอบการบางรายเสนอให้ทาง กสทช.สั่งห้ามไม่ให้บริษัทที่เกิดขึ้นจากการควบรวม (New Co) รวมคลื่นความถี่ของ TRUE และ DTAC ไปใช้งานร่วมกัน และ New Co ควรคืนคลื่นบางส่วน หลังจากนั้น TRUE ออกมาระบุว่า New Co ควรได้รับเงินชดเชยหากถูกเรียกคืนคลื่นในอนาคต (ล่าสุด ADVANC ออกมาปฎิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว)
เมย์แบงก์มองว่า การคืนคลื่นเพียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 55MHz) จะไม่ส่งผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันของ New Co ถึงแม้ยังมีความเสี่ยงที่การอนุมัติการควบรวมจะล่าช้าออกไปได้อีก เรายังคงประเมินว่ามีโอกาส 90% ที่การควบรวมของ TRUE และ DTAC จะเกิดขึ้นได้ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ประเมินว่า New Co จะสามารถคืนคลื่นความถี่ได้จำนวน 55MHz (16% ของคลื่นทั้งหมดของ New Co โดยไม่รวมคลื่นความถี่ประเภท mmWave) โดยไม่ส่งผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับ ADVANC ในปัจจุบัน TRUE และ DTAC รวมกันมีปริมาณคลื่นความถี่เท่ากับ 6.5 MHz ต่อลูกค้ามือถือ 1 ล้านราย ถ้า New Co ต้องคืนคลื่นจำนวน 55MHz ปริมาณคลื่นความถี่จะเหลือ 5.5MHz ต่อลูกค้ามือถือ 1 ล้านราย ซึ่งเท่ากับตัวเลขของ ADVANC พอดี
การวิเคราะห์เพิ่มเติมทางด้านการถือครองคลื่นความถี่ของ New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบ และมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ คือ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทาง คณะกรรมการ กสทช. ต้องเลื่อนการพิจารณาการประเด็นการควบรวมออกไปจาก 10 ส.ค. เป็น 10 ก.ย. ความเสี่ยงที่อาจทำให้การอนุมัติการควบรวมล่าช้าออกไปอีก คือ ทางกสทช. อาจต้องใช้เวลาร่างมาตรการที่เกี่ยวกับ การรวมคลื่น หรือ การคืนคลื่นของ New Co เพิ่มเติม
อีกหนึ่งความเสี่ยงต่อการอนุมัติการควบรวมคือ ทางบอร์ด กสทช. อาจตัดสินใจรอให้กรรมการคนที่ 6 (ตัวแทนทางด้านกฎหมาย) เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก่อนที่จะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการควบรวมของ TRUE และ DTAC
ถ้าคณะกรรมการ กสทช.อนุมัติการควบรวมได้ภายในเดือน ต.ค.65 คาดว่า การทำคำเสนอซื้อหุ้น TRUE และ DTAC โดยสมัครใจ (VTO) จะเกิดขึ้นได้ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. ในกรณีนี้ ขั้นตอนการควบรวมในช่วงสุดท้าย ซึ่งรวมไปถึง การจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วม การจดทะเบียนบริษัท New Co กับกระทรวงพาณิชย์ และการนำ New Co เข้าตลาดหลักทรัพย์ น่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือน ธ.ค.
ในทางตรงกันข้าม ถ้าทาง กสทช.ไม่สามารถอนุมัติการควบรวมได้ภายในเดือน ต.ค. การควบรวมอาจจะไม่สำเร็จภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ เมย์แบงก์ยังคงให้ ADVANC เป็นหุ้นเด่น เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังปี 65 และอัพไซด์ 4% ต่อราคาเป้าหมายปัจจุบันที่ 230 บาทจากแผนการเข้าซื้อ TTTBB และ JASIF