แหล่งข่าวจากบล.นครหลวงไทย ในฐานะผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นของ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ผู้บริหารของสยามแก๊สฯกำลังหารือกันอยู่ว่าจะเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีความลังเลใจ เพราะช่วงเดือนเม.ย.มีวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์หลายวัน และภาวะตลาดระยะนี้ก็ผันผวน ไม่นิ่ง แต่หากจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก็คาดว่าจะเลื่อนการขายไปไม่นานนัก
"ถ้าเร็วที่สุดหากได้ขาย IPO ในปลายเดือนเมษายนนี้ ก็คาดว่าจะสามารถเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2551 ถ้าไม่ขายก็อาจจะขยับไปอีกนิดหน่อย ส่วนข้อมูลไฟลิ่งของสยามแก๊สขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของก.ล.ต."แหล่งข่าว กล่าว
ขณะที่เช้านี้ มีข่าวซุบซิบในคอลัมน์สื่อแห่งหนึ่ง ระบุในทำนองว่า หุ้นน้องใหม่อย่างสยามแก๊สที่ยังไม่ได้เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ มีกระแสข่าวว่าราคา IPO ยังไม่นิ่ง โดยอาจขยับขึ้นไปถึง 8 บาท จาก 5 บาท และมีการประเมินราคาซื้อขายอาจขึ้นไปถึง 30 บาท
แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกระแสข่าวลือ เพราะในที่สุดแล้วราคาหุ้นจะสะท้อนพื้นฐานของตัวบริษัท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยราคา IPO ได้
"คงจะต้องสอบถามผู้บริหารของสยามแก๊สฯดูก่อนว่า เขาพูดหรือใครเอาไปพูดกันแน่เกี่ยวกับข่าวลือซุบซิบนี้ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วราคาหุ้นมันก็ต้องสะท้อนพื้นฐานของมัน ส่วนข่าวลือยังไงก็เป็นข่าวลือ แล้วเรื่องราคาขาย IPO ตอนนี้ยังพูดอะไรไม่ได้มาก เดี๋ยวก.ล.ต.จะว่าเอาได้"แหล่งข่าว กล่าว
SGP นับ 1 ข้อมูล Filing เมื่อ 6 ก.ย.2550 โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 260 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 20 ล้านหุ้นให้แก่กรรมการและพนักงาน มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยมีบจก. แอดไวเซอรี่ พลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
SGP เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)รายใหญ่ของประเทศ ที่ประกอบธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซ LPG) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่น ภายใต้เครื่องหมายการค้า“สยามแก๊ส"และ“ยูนิคแก๊ส"และประกอบธุรกิจขนส่งก๊าซ LPG และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่น ด้วยระบบโครงข่ายที่ครบวงจร ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมช่องทางการจัดส่งและจัดจำหน่ายที่อำนวยความสะดวกและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า โดยมีบริษัทย่อยในกลุ่มรวมทั้งสิ้น 8 บริษัท
สยามแก๊สฯมีลูกค้า 3 ประเภท คือ ลูกค้าที่นำก๊าซ LPG ไปใช้เป็นก๊าซหุงต้ม (สัดส่วนราว 51.7%) เช่น โรงบรรจุก๊าซ LPG ร้านค้าก๊าซ LPG และผู้ใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน โรงแรม และภัตตาคาร กลุ่มที่สองคือลูกค้าที่นำก๊าซ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (25.5%) เช่น สถานีบริการก๊าซ LPG และรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง และกลุ่มสุดท้ายคือลูกค้าที่นำก๊าซ LPG ไปใช้ในด้านอุตสาหกรรม (9.5%) ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทในเครือ มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของตลาดราว 31%
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--