Decrypto: DSI กับคดีพิเศษเกี่ยวกับ Cryptocurrency

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 29, 2022 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ช่วงนี้กระแสการต้มตุ๋นหลอกลวงลงทุนมีให้เห็นเป็นข่าวแทบทุกอาทิตย์ สร้างความเสียหายสูงหลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท ซึ่งบางกรณีก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นการหลอกลวง หรือเป็นเพียงการลงทุนแล้วไม่ได้กำไรตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่บางกรณีก็ชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง เช่น กรณีหลอกลงทุนเหมืองขุด Cryptocurrency ที่เกิดความเสียหายเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่เกือบ 400 ล้านบาท หรือกรณี Youtuber เจ้าของช่อง Nutty?s Diary โกงเงินผ่านการซื้อขายหุ้นสร้างความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

และที่สร้างความฮือฮาล่าสุด อย่าง กรณี FOREX-3D ที่อ้างว่ามีทีมเก่งที่สุดในโลกสามารถทำกำไรได้สูง มีบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยลงทุนมากมาย รวมถึงมีนักแสดงและนักร้องชื่อดังถูกตั้งข้อหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการหลอกลวง ซึ่งกรณี FOREX-3D มีผู้เสียหายเกือบ 10,000 คน และมีความเสียหายมูลค่าเกือบ 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรณีตัวอย่างมีความซับซ้อน มีผู้เสียหายและความเสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแบบเดิมๆ อาจไม่มีความเข้าใจ หรือไม่มีกำลังหรืออำนาจตามกฎหมายเพียงพอที่จะดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดนั้น ๆ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อให้มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงระหว่างประเทศ มีอำนาจจับกุมหากความผิดนั้น ๆ เข้าข่ายเป็น "คดีพิเศษ" ซึ่งมีอำนาจหน้าที่คล้ายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากเลือกร้องเรียน ร้องทุกข์ หรือแจ้งเบาะแสกับ DSI

แต่คดีพิเศษหรือคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ DSI โดยทั่วไปนั้นจะถูกกำหนดตามพระราชบัญญัติสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 นั้นซึ่งจะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1) คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ

2) คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ

3) คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นคดีความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม

4) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน

5) คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา

นอกจากนั้นแล้ว ในปัจจุบันก็ได้มีประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดรายละเอียดของลักษณะการกระทำความผิดเพิ่มเติม เช่น คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนบางฐานความผิดที่มีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่สามร้อยคนขึ้นไป หรือมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

หรือคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินบางฐานความผิดที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป หรือคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์บางฐานความผิดที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป หรือคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินบางฐานความผิด

หรือคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บางฐานความผิดที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศด้านความมั่นคงและบริการภาครัฐที่สำคัญ ด้านการเงิน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภคหรือด้านสาธารณสุข หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งความผิดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่การกระทำความผิดอาญาทุกกรณีจะเป็น "คดีพิเศษ" ที่ DSI จะมีอำนาจหน้าที่เข้ามาดำเนินการตามกฎหมายโดยหลักการพิจารณาว่าคดีใดจะเป็นคดีพิเศษได้นั้น โดยปกติสามารถพิจารณาได้เป็นลำดับกล่าวคือ การกระทำความผิดทางอาญานั้นจะต้องเป็นไปตามประกาศ กคพ. และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 21

ดังนั้น แม้ DSI หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กำลังพลและเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการในคดีอาญา แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณีที่ DSI จะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ แม้มีกรณีผู้เสียหายหรือความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่หากไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายแล้ว DSI ก็ไม่อาจรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์เพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้ ผู้เสียหายจึงควรพิจารณาอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะเข้าร้องทุกข์เพื่อไม่ให้เสียเวลาและประโยชน์ในทางคดีในการดำเนินการเอากับผู้กระทำความผิดนั้น ๆ

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


แท็ก เป็นข่าว   DSI  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ