ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยเรื่อง "Global Energy Transition และธุรกิจผลิตไฟฟ้าในตลาดทุนไทย โดยสรุปว่า การประชุม COP26 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละประเทศเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุ Net Zero ทั่วโลกภายในปี 2050 ส่งผลให้ผู้ลงทุนบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณความกังวลต่อการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการทบทวนการลงทุนในการผลิตปิโตรเลียมของบริษัทน้ำมันทั่วโลก และมีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ปรับรูปแบบธุรกิจในแนวทาง Energy Transition รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไฟฟ้าไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ต้นทุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งต่อไปให้ผู้ใช้ผ่านระบบสายส่ง โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลทั้งด้านการผลิตการจำหน่าย รวมถึงการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าและจัดทำแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร (ประมาณ 5-7 ปี) จึงได้มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยได้ตั้งเป้าให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50%
การให้ใบอนุญาตเพิ่มขึ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดกลางและเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทำให้โครงสร้างการแข่งขันเปลี่ยนไปจากที่มีผู้เล่นขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานจากก๊าซและถ่านหินเป็นหลัก เป็นการมีผู้เล่นจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีหลายบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งแต่ละ บจ. นั้นอาจเน้นการผลิตไฟฟ้าด้วยชนิดพลังงานหมุนเวียนที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังได้มีการขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืนใน Sustainability Report และข้อมูลอื่นๆ พบว่าหลาย บจ. ได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้าน Climate Change และ Energy Transition ของโลกและไทย โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน ได้เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น แต่อาจแตกต่างกันไปตามกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัท โอกาสทางธุรกิจและแหล่งทรัพยากรที่บริษัทเข้าถึงได้ และมีแนวโน้มการเติบโตแบบ inorganic growth
โดยเฉพาะใน บจ. ที่มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง เช่น สภาพคล่องดี เงินลงทุนสูง มีหนี้ต่ำจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ ได้สะดวกขึ้น ซึ่งอาจสังเกตได้จากสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรต่อรายได้ และมูลค่าการควบรวม/ลงทุนในกิจการของทั้งโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมและแบบพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวช่วยส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว แต่ก็อาจส่งผลต่อการทยอยบันทึกค่าเสื่อมราคาของการลงทุนและกำไรสุทธิในระยะหนึ่ง
การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลอาจมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมตามทิศทาง Global Energy Transition ไปสู่พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรวมถึงกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น และตลาดก็อาจให้การตอบรับที่ดีในแง่การเติบโตและราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีแผนการเปลี่ยนถ่ายไปยัง renewable energy อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี บจ. ที่เน้นธุรกิจโรงไฟฟ้าจากฟอสซิลซึ่งมักเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ดำเนินกิจการมานาน ก็มีความน่าสนใจจากการจ่ายปันผลในอัตราที่สูงเช่นกัน