ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กและรายเล็กมาก (Small Power Producers -- SPP และ Very Small Power Producers -- VSPP) รวมถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของโรงไฟฟ้าของบริษัท ในทางกลับกัน อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาระหนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการขยายธุรกิจรวมถึงความเสี่ยงจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ตามแผนงานของบริษัทอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โรงไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 22 แห่งทั่วประเทศโดยมีกำลังการผลิตรวม 257.6 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 13 แห่งมีสัดส่วนคิดเป็น 49% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงคิดเป็น 44% ส่วนที่เหลืออีก 7% เป็นกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน (Municipal Solid Waste -- MSW) 2 แห่ง รวมทั้งจากโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา 5 แห่งและแบบลอยน้ำอีก 1 แห่ง
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากนั้นได้รับค่าไฟฟ้าแบบคงที่ (Fixed Feed-in Tariff ? Fixed FiT) ในอัตรา 2.39 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) และค่าไฟฟ้าแบบแปรผัน (Variable FiT) ในอัตรา 1.85 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงซึ่งปรับตามอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวยังมีส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าพิเศษ (Premium FiT) ในอัตรา 0.3 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในช่วง 8 ปีแรกอีกด้วย
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีกับ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กโดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาที่ขนาด 90 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาตรฐานสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในโครงการดังกล่าวนั้น กฟผ. ตกลงที่จะเรียกจ่ายไฟฟ้าอย่างน้อยที่ระดับ 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาโดยขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานของโรงไฟฟ้า สัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นแบบ Take-or-pay คือไม่ใช้ก็ต้องจ่ายนั้นช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่แน่นอน นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังเป็นสูตรที่สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ตามการเปลี่ยนแปลงราคาเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันและความผันผวนของค่าเงินได้อีกด้วย
- การลดความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายประเภท เช่น ไม้สับ เปลือกไม้ และเศษวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือจากการเกษตร โดยไม้สับและเปลือกไม้เป็นเชื้อเพลิงหลักที่บริษัทใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 60%-70% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นเศษวัสดุทางการเกษตรเชื้อเพลิงประเภทชีวมวลนั้นมีความผันผวนในแง่ของอุปทานและราคา โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเพื่อให้ง่ายต่อการจัดหาและจำกัดต้นทุนในการขนส่ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการมีผู้ถือหุ้นใหญ่หลายรายที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจสวนยูคาลิปตัสและไม้สับ โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมีการทำสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงระยะยาวกับบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าจะมีเชื้อเพลิงไม้สับและเปลือกไม้ยูคาลิปตัสอย่างเพียงพอและพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.45-1.63 บาทต่อหน่วยไฟฟ้าที่จำหน่าย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
- มีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจมาโดยตลอดในช่วงปี 2562-2564 ทั้งนี้ ค่าดัชนีความพร้อมโดยของโรงไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 84.9%-99.8% ในขณะที่ค่าดัชนีการหยุดซ่อมฉุกเฉินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.1%-6.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โครงการที่บริษัทซื้อกิจการมาเมื่อปี 2563 ยังคงอยู่ในช่วงการซ่อมบำรุงและมีค่าดัชนีความพร้อมของโรงไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 50.7%-70.4%
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2564 โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมีอัตราการจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 95%-99% ของกำลังการผลิตตามสัญญา โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทที่มีอยู่ 1 โรงนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2560 โดยมีค่าดัชนีความพร้อมอยู่ที่ระดับ 96.6%-99.5% และมีอัตราการหยุดซ่อมนอกแผนในระดับต่ำ ส่วนอัตราค่าความร้อนนั้นอยู่ที่ระหว่าง 7,366-7,407 บีทียูต่อหน่วยซึ่งดีกว่าเกณฑ์ที่ 7,950 บีทียูต่อหน่วยซึ่งระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าขยะชุมชนของบริษัทก็มีผลการดำเนินงานที่ดี โดยในปี 2562-2564 มีค่าดัชนีความพร้อมโดยเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 89%-96% ในขณะที่ค่าดัชนีการหยุดซ่อมฉุกเฉินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.7%-2.2% และมีอัตราการจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ระดับประมาณ 98.9%-99.9% ของกำลังการผลิตตามสัญญา
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีรายได้จำนวน 3.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการดำเนินงานเต็มช่วงระยะเวลาของโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ที่เปิดดำเนินงานในเดือนพฤศจิกายน 2564 และจากรายได้ที่สูงขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมซึ่งเกิดจากการปรับเพิ่มรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าเพื่อสะท้อนราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่จำนวน 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง EBITDA ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้นั้นมีสาเหตุมาจากราคาค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายก่อนดำเนินงานของโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้น
มีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวนมาก อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางส่วนจากความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ตามแผนการลงทุนของบริษัท ปัจจุบันบริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า 34 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 270.8 เมกะวัตต์โดยประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP Hybrid จำนวน 4 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 10 แห่ง โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 18 แห่ง บริษัทคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้า SPP Hybrid จำนวน 1 แห่งได้ภายในปี 2566 และจะเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพทั้งหมดภายในปลายปี 2568 รวมทั้งจะเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในระหว่างปี 2569-2570
ภายใต้ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการใหม่ ๆ จะเริ่มสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญได้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไปเมื่อโครงการต่าง ๆ เริ่มเปิดดำเนินงานได้เต็มปี ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงประมาณการว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2.1-2.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2568
- ระดับหนี้จะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้จากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนไม่เกิน 1.7 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ในช่วงระหว่างปี 2565-2568 ซึ่งที่มาของเงินลงทุนคาดว่าจะมาจากการก่อหนี้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หนี้สินรวมของบริษัทจึงคาดว่าจะขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50% ในปี 2568 จากระดับ 20.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565
ระดับภาระหนี้ของบริษัทเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาของการขยายกำลังการผลิตด้วยเช่นกัน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 6 เท่าในปี 2568 จากระดับ 1.5 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวอาจปรับตัวดีขึ้นโดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5 เท่าเมื่อทุกโครงการเปิดดำเนินงาน
- มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้เงินกู้โครงการสำหรับโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ณ สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยจะรวมเป็นเงินสดจำนวนประมาณ 3.7 พันล้านบาทซึ่งเพียงพอต่อการชำระภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดในระยะ 12 เดือนข้างหน้าที่จำนวนทั้งสิ้น 0.8 พันล้านบาท ทั้งนี้บริษัทและบริษัทย่อยต่างก็สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ยืมจากธนาคารอีกด้วย
- โครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้เงินกู้ในงบการเงินรวมจำนวน 5 พันล้านบาทซึ่งไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงิน โดยหนี้ทั้งหมดเป็นหนี้ของบริษัทย่อยซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับ 100% ซึ่งสูงกว่าระดับ 50% ตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้" ของทริสเรทติ้ง ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จะอยู่ที่ 1,500-1,625 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในระหว่างปี 2565-2568
- ในช่วงระหว่างปี 2565- 2568 รายได้จะอยู่ที่ระดับ 6.2-7 พันล้านบาทต่อปี และ EBITDA ที่ระดับ 2.1-2.5 พันล้านบาทต่อปี
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2568
- อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ 30% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าโครงการใหม่ ๆ ของบริษัทที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้มากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่สามารถบริหารจัดการภาระหนี้เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมากซึ่งอาจเกิดจากการที่บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลงจากการลงทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมาก