โบรกเกอร์ต่างเห็นพ้องแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) คาดกำไรในไตรมาส 3/65 น่าจะทำนิวไฮของปีนี้ หลังจากราคาไก่ ทั้งไก่มีชีวิต เนื้อไก่ และชิ้นส่วนไก่ ปรับขึ้นสูง และอยู่ในช่วงไฮซีซั่นการส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะตลาดยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัว จากก่อนหน้านี้ได้เลื่อนคำสั่งซื้อจากไตรมาส 2/65 มาไตรมาส 3/65 โดยมีปัจจัยหนุนจากญี่ปุ่นเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ดีมานด์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลง แต่ GFPT ยังมีสต็อกเก่าค้างอยู่บ้าง ทำให้คาดว่าจะเริ่มเห็นผลดีของต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับลดลงในไตรมาส 4/65 ส่วนบริษัทย่อย คือ GFN มีแนวโน้มจะพลิกกลับไปเป็นกำไรในปีนี้ด้วย
บริษัทปรับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปี 65 ขึ้นเป็น 15-20%YoY จากเดิมวางเป้าหมายไว้ที่ 7-8%YoY, และปรับเป้า GPM ขึ้นเป็น 14-15% จากเดิมที่ 10-11% ส่วน SG&A/Sales ลดลงเล็กน้อยมาที่ 9.0-9.5% จากเดิม 9.5-10%
ราคา GFPT ปิดเช้าอยู่ที่ 16.60 บาท ลดลง 0.10 บาท (-0.60%) ขณะที่ดัชนี SET บวก 0.22%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) บัวหลวง Trading Buy 22.50 โนมูระ พัฒนสิน ซื้อ 22.40 หยวนต้า ซื้อ 21.50 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ซื้อ 20.60 พาย ซื้อ 20.50 ดีบีเอสวิคเคอร์ส ซื้อ 19.20 ดาโอ ซื้อ 19.00 ไทยพาณิชย์ Outperform 19.00 ฟิลลิป ซื้อ 18.00 ฟินันเซีย ไซรัส Trading Buy 17.50 เอเชียพลัส ซื้อ 17.00
นางสาวสุรีย์พร ทีวะสุเวทย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า หุ้น GFPT มีปัจจัยบวกสนับสนุนจากแนวโน้มลกำไรสุทธิในไตรมาส 3/65 เติบโตต่อเนื่อง ทั้งเทียบกับไตรมาส 2/65 (QoQ) และไตรมาส 3/64 (YoY) เนื่องจากราคาไก่ยังทรงตัวสูง ราคาไก่มีชีวิต 48-49 บาท/กก. และชิ้นส่วนไก่ อย่างโครงไก่ราคาอยู่ที่ 26 บาท/กก. ซึ่งเป็นระดับนิวไฮของปีนี้ โดยไตรมาส 1/65 ราคาไก่มีชีวิตอยู่ที่ราว 40 บาท/กก.
ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงในไตรมาส 3/65 โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับตัวลง แต่ GFPT ยังมีสต๊อกเก่าที่ซื้อมาในราคาสูงเหลืออยู่ จึงทำให้ยังไม่เห็นผลในทันที แต่จะเริ่มเห็นการปรับลดลงในไตรมาส 4/65
ประกอบกับ ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้เงินบาทอ่อนค่าลงมาแตะ 36 บาท หนุนภาพรวมของการส่งออก โดยบริษัทมีตลาดหลักที่ญี่ปุ่น รองลงมาเป็น ยุโรป โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากการที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารของญี่ปุ่นสูงขึ้นด้วย
พร้อมคงคาดกำไรสุทธิในปี 65 ที่ 1,456 ล้านบาท ฟื้นตัวได้ดีจากปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 209 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิไปแล้ว 909 ล้านบาท (+313% YoY) จะเห็นได้ว่าในปีนี้ GFPT กลับมา Turnaround จากปีก่อนที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งขึ้นมากและปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออก
อย่างไรก็ตาม แนะนำแค่ "เก็งกำไร" เพราะ GFPT เป็นหุ้นกลุ่ม Commodity เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนอาจกังวลว่าราคาไก่มีโอกาสปรับตัวลงเช่นเดียวกับ Commodity ตัวอื่น ๆ แต่ฟินันเซีย ไซรัส มองว่าในช่วง 3-6 เดือนกลุ่มส่งออกไก่ยังเล่นได้ เพราะอยู่ในช่วงไฮซีซั่น และ Earning ยังมีโมเมมตัมดีต่อเนื่อง
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรของ GFPT ในไตรมาส 3/65 เบื้องต้นคาดว่าจะทำระดับสูงสุดของปี หลังจากราคาไก่หน้าฟาร์มในประเทศยืนแข็งในระดับสูงที่ 49-52 บาท/กก.เทียบกับราคาขายเฉลี่ยในไตรมาส 2/65 ที่ 44.4 บาท/กก.และราคาโครงไก่ที่ทรงตัวอยู่ระดับสูงเช่นกันที่ 26-27 บาท/กก.
ประกอบกับเป็นช่วง High Season ของการส่งออก และมีคำสั่งซื้อบางส่วนจากยุโรปที่ถูกเลื่อนมาในไตรมาส 3/65 แทน ทำให้เราคาดปริมาณขายส่งออกเบื้องต้นเพิ่มขึ้นเป็น 8,100-8,400 ตัน ส่วนด้านต้นทุนแม้จะชะลอตัวเล็กน้อย QoQ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเทียบกับสถานการณ์ปกติ แต่คาดจะเห็นการเติบโตของ GPM ได้ต่อ
ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมคาดทรงตัว QoQ (GFN ดีขึ้น แต่ Mckey อาจชะลอลงจากการรับรู้ต้นทุนคงที่ของกำลังการผลิตในโรงงานใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาในช่วงแรกในการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิต)
บริษัทปรับเป้าการเติบโตของรายได้และ GPM ของปี 65 ขึ้น หลังจากผลประกอบการครึ่งปีแรกดีกว่าแผน โดยปรับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ทั้งปีนี้สูงขึ้นเป็น 15-20%YoY จากเดิมที่ 7-8%YoY, ปรับเป้า GPM ขึ้นเป็น 14-15% จากเดิมที่ 10-11% และปรับ SG&A/Sales เป็น 9.0-9.5% จากเดิมที่ 9.5-10% สะท้อนปัญหาการขนส่งทางเรือที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องและอยู่ในกรอบของประมาณการปัจจุบันของเรา
ขณะที่ปี 66 มองว่ากำไรจะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้แนวโน้มราคาไก่ในประเทศมีโอกาสปรับลง แต่เชื่อว่าจะปรับ ลงน้อยกว่าต้นทุนที่ลดลง ทำให้ระดับ GPM มีโอกาสทรงตัวไปถึงสูงขึ้นได้ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะเติบโตจากการเปิดประเทศมากขึ้นของญี่ปุ่น, การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในจีนและตะวันออกกลางที่เป็นตลาดใหม่และมีขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อปริมาณการส่งออกในปีหน้า และยังไม่รวม Upside ของกำลังการผลิตโรงเชือดไก่ที่จะเพิ่มขึ้นราว 150,000 ตัว/ปี ซึ่งจะเริ่มรับรู้ในครึ่งหลังปี 66 เป็นต้นไป
บล.หยวนต้าฯ ยังคงมุมมองบวกต่อแนวโน้มกำไรของ GFPT และคงประมาณการกำไรปกติปี 65 ที่ 1,670 ล้านบาท (+833.4%YoY) ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PER65 เพียง 11.4 เท่า น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่อยู่ในระดับ 14-16 เท่า มองว่าอยู่ในโซนถูก เป็นโอกาสเข้าลงทุน คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมายสิ้นปี 65 ที่ 21.50 บาท และยังเลือกเป็น Top pick ของกลุ่มฟาร์มสัตว์บก
ส่วน บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดการณ์อย่างอนุรักษ์นิยมต่อวงจรขาขึ้นของราคาไก่ไทยว่ามีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 65 ภายใต้สมมติฐานในกรณีปกติ ดังนั้น ราคาไก่ในประเทศมีแนวโน้มจะยืนสูงในกรอบ 45-50 บาท/กก.ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ถึงแม้อาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลจากน้ำท่วมในต่างจังหวัด และฝนที่จะตกมากขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ก็ตาม
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ล่าสุด ราคาลูกเจี๊ยบปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 17.25 บาท/ตัว (20 มิ.ย.-24 ก.ค.) ไปเป้น 19.25 บาท/ตัว (25 ก.ค.-ปัจจุบัน) บ่งบอกเป็นนัยถึงอุปทานไก่พ่อแม่พันธุ์ที่ตึงตัวมากขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.65 ทั้งนี้ คิดว่าอุปทานไก่ส่วนเพิ่มจากทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่จนถึงปัจจุบันถือว่ายังคงน้อยมาก ถ้าอ้างอิงจากการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ที่ยังคงระดับไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และภายใต้สมมติฐานในกรณีที่ดีที่สุดที่อุปทานไก่ปู่ย่าพันธุ์ยังคงตึงตัวตลอดทั้งปี 66 ราคาไก่ไทยมีแนวโน้มที่จะยืนสูงสุดตลอดทั้งปีหน้าเช่นกัน
ราคาไก่มีชีวิตใน กทม.ยังคงยืนในระดับสูงที่ 46.5 บาท/กก.นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ราคาโครงไก่ยังอยู่ในระดับสูงเช่นกันที่ 24-25 บาท/กก.ในช่วงวันที่ 4 ก.ค.-21 ส.ค.และสำหรับในไตรมาส 3/65 คาดราคาไก่มีชีวิตในประเทศเฉลี่ยที่ 46 บาท/กก.เพิ่มขึ้นมากถึง 52% YoY และ 13% QoQ และราคาโครงไก่เฉลี่ยที่ 28 บาท/กก.เพิ่มขึ้นแรงถึง 167%YoY และ 19%QoQ ให้ตั้งข้อสังเกตว่าราคาไก่มีชีวิตและราคาโครงไก่ในไตรมาส 3/64 อยู่ในระดับที่ต่ำมากเพียงแค่ 30 บาท/กก.และ 10.5 บาท/กก. ตามลำดับ จึงเชื่อว่า GFPT และ GFN มีแนวโน้มที่จะรายงานกำไรเพิ่มขึ้นจากธุรกิจไก่ในประเทศ
และสำหรับในไตรมาส 3/65 เราคาดว่า GFN มีแนวโน้มที่จะพลิกกลับไปเป็นกำไร YoY และรายงานกำไรเติบโต QoQ ในขณะที่ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ในประเทศของ GFPT มีแนวโน้มที่จะรายงานกำไรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น QoQ เช่นกัน โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาขายผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนั้น วอลุ่มไก่ส่งออกของ GFPT ไปยังประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะกลับมาเติบโต QoQ ในไตรมาส 3/65 เนื่องจากก่อนหน้านี้ในไตรมาส 2/65 ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากส่งผลให้มีการชะลอหรือเลื่อนคำสั่งซื้อ เลื่อนมาเป็นในไตรมาส 3/65 แทน จึงคาดวอลุ่มไก่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นของ GFPT มีแนวโน้มเติบโต 20% QoQ (จาก 3.3 พันตันในไตรมาส 2/65 เป็น 4 พันตันในไตรมาส 3/65) หรือเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง 60% YoY
สำหรับวอลุ่มไก่ส่งออกของ GFPT ไปยังยุโรป คาดมีแนวโน้มเติบโต 9% QoQ (จาก 2.3 พันตันนในไตรมาส 2/65 ไปเป็น 2.5 พันตันในไตรมาส 3/65) หรือเติบโตแรง 39% YoY และ 11% QoQ
ในส่วนของ McKey คาดว่าโรงงานไก่ปรุงสุกแห่งที่ 3 ของ McKey ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 3 หมื่นตัน/ปี ซึ่งเปิดดำเนินการไปแล้วในเดือน ก.ค.65 จะเป็นปัจจัยหนุนวอลุ่มไก่ส่งออกของ McKey ในไตรมาส 3/65 ให้เพิ่มขึ้น QoQ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเริ่มรับรู้ค่าใช้จ่ายจาการดำเนินงานของโรงงานแห่งใหม่ของ McKey ตั้งแต่ไตรมาส 3/65 แต่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อ GFPT เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคาดว่าต้นทุนการดำเนินงานของโรงงานใหม่ของ McKey ที่เพิ่มขึ้นน่าจะอยู่ที่ราว 10-20 ล้านบาท/ไตรมาส และวอลุ่มไก่ส่งออกของ GFN มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น QoQ เช่นกัน จากวอลุ่มส่งออกไปยังยุโรปที่จะกลับมาเพิ่มขึ้น