Decrypto: เล่าให้ฟังเรื่องแชร์ลูกโซ่คริปโทฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 6, 2022 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตกเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องสำหรับกรณีแชร์ลูกโซ่การลงทุนใน FinTech ตั้งแต่คดีฉ้อโกง "Forex 3D" ยูทูบเบอร์ดัง"นัตตี้" และ "P Miner" ทำให้นักลงทุนที่ถูกหลอกสูญเงินไปกว่า 6,000 ล้านบาท

แต่กรณีดังกล่าวถือเป็นคนละเรื่องกับ LUNA, ZipMex และ BitKub ซึ่งปัจจุบันได้รับการชี้แจงว่าเป็นเรื่องของการขาดสภาพคล่อง หรือมูลค่าของเหรียญลดลงอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันรวดเร็ว อันเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาควบคุมและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผู้ลงทุนต่อไป

กรณีการฉ้อโกงประชาชน ดังเช่น "Forex 3D" "นัตตี้" และ "P Miner" ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้น แต่ได้เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1920 กับวีรกรรมของนาย Charles Ponzi ที่เป็นที่มาของคำว่า "Ponzi Schemes" หรือภาษาไทยว่า "แชร์ลูกโซ่" นั้นเอง

นาย Charles Ponzi เป็นชาวอิตาลีที่ย้ายมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา และก่อตั้งบริษัท Securities Exchange Company ด้วยเงินลงทุนที่เขามีเพียงเล็กน้อย แต่เขาเห็นโอกาสจากการลงทุนใน International Reply Coupon (IRC) ซึ่งเป็นคูปองที่ใช้แลกแสตมป์ในการส่งจดหมายตอบกลับไปต่างประเทศ โดยเขาเห็นว่าหากนำเงินไปลงทุนในคูปองดังกล่าวจะสามารถสร้างกำไรจากส่วนต่างจากการนำคูปองของประเทศอื่นที่มีอัตราแลกเปลี่ยนถูกกว่ามาแลกขายต่อในประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่า จึงได้มีการโฆษณาและชักชวนผู้ลงทุนมาลงทุนใน IRC กับบริษัทของเขา ด้วยการอ้างว่าผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนสูงถึง 50% ในเวลาแค่ 45 วัน หรือได้ผลตอบแทนถึง 100% ในเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ จึงมีนักลงทุนจำนวนมากมาร่วมลงทุนกับนาย Ponzi มีเงินลงทุนหลั่งไหลเข้ามามากถึง 870 ดอลลาร์ และทำให้เขาสามารถจ่ายเงินตอบแทนการลงทุนให้กับผู้ลงทุนกลุ่มแรก ๆ ได้อย่างดี

นาย Ponzi กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ได้รับการชื่นชมจากสื่อต่าง ๆ และสาธารณชน และธุรกิจของเขาได้ก่อให้เกิดกำไรอย่างงดงามในระยะเวลาอันสั้น ต่อมานักลงทุนได้บอกต่อกันปากต่อปาก ทำให้มีผู้เข้าร่วมลงทุนในบริษัทของนาย Ponzi มากมาย จนทำให้บริษัทของเขาสร้างมูลค่ากว่า 8.5 ล้านดอลลาร์ ในเวลานั้นนับว่าเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป นาย Ponzi ไม่สามารถหาผู้ลงทุนรายใหม่เพิ่มได้ จึงเริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยไม่สามารถจ่ายเงินปันผลและเงินต้นให้กับนักลงทุนรายเก่าได้ และต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบไปยังกรมไปรษณีย์ของสหรัฐฯ ก็ได้ทราบว่าไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนคูปอง IRC ภายใต้ธุรกิจของนาย Ponzi ตามที่กล่าวอ้าง และปริมาณของคูปองที่มีอยู่ก็ไม่ได้มีจำนวนมากขนาดที่จะสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนทำกำไรได้มหาศาลอย่างที่นาย Ponzi กล่าวอ้างไว้ เมื่อความจริงถูกเปิดเผย แชร์ลูกโซ่ของนายนาย Ponzi จึงล้มภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือนกว่า ๆ โดยนาย Ponzi ถูกตัดสินว่าได้กระทำความผิดมากมายหลายข้อหา ถูกตัดสินจำคุก และเนรเทศกลับอิตาลีบ้านเกิดในที่สุด

แม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปี "Ponzi Schemes" หรือ "แชร์ลูกโซ่" ก็คงยังได้ผลเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โครงสร้างทางการเงินมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ได้เพิ่มโอกาสและช่องทางในการทำเงินให้กับนักลงทุนได้หลากหลายขึ้น แต่การลงทุนใน FinTech ก็จำเป็นต้องอาศัยความรู้ และความระมัดระวังในการลงทุนในตลาดใหม่นี้ เนื่องจากผู้ไม่หวังดีเอง ก็ได้มีการพัฒนารูปแบบในการหลอกลวงให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน โดยเราจะมาดูกันว่ารูปแบบของแชร์ลูกโซ่ในระบบการเงิน FinTech โดยเฉพาะแชร์ลูกโซ่ Crypto หรือ Crypto Ponzi Scheme นั้นมีรูปแบบอย่างไร และมีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง

เมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา Cryptocurrency โดยเฉพาะ Bitcoin ได้กลายเป็นที่นิยม นำมาสู่การพัฒนา Cryptocurrency สกุลอื่น ๆ ขึ้นมามากมายหลายสกุล และนำมาสู่การล่อลวงนักลงทุนจำนวนมากให้เข้ามาลงทุนในโครงการ Cryptocurrency ต่าง ๆ ที่เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ด้วยคำโฆษณาที่ว่าจะให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น มีความเสี่ยงน้อยหรือไม่มีเลย (โดยไม่คำนึงถึงสภาวะตลาด) มีการกำหนดให้นักลงทุนต้องนำเงินมาลงในโครงการไว้ก่อน และชักชวนผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนเพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

โดยแชร์ลูกโซ่คริปโทฯ นี้ ผู้คนมักจะไม่ค่อยสงสัยว่าเป็นการฉ้อโกง เนื่องจากเจ้าของโครงการมักจะอ้างว่าเป็นการดำเนินการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่แปลกใหม่ และ "ล้ำสมัย" ที่ถูกกฎหมาย มีการอธิบายกลไกการดำเนินการ/ธุรกิจเบื้องหลังโครงการที่ผู้ลงทุนมักจะทำความเข้าใจได้ยาก (แต่เจ้าของโครงการก็มักจะอ้างว่ารูปแบบการลงทุนหรือกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังโครงการ ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายได้)

และมักจะสร้างฝันด้วยคำสัญญาว่าให้ผลตอบแทนสูง หลอกล่อนักลงทุนด้วยเรื่องราว (Story-Telling) และสถิติหลอกต่าง ๆ ว่า คริปโทฯ ทำกำไรได้มหาศาล (ทำให้นักลงทุนที่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า คริปโทฯ ทำงานอย่างไร หลงเชื่อและตื่นตากับศักยภาพของ คริปโทฯ ได้ง่าย) เจ้าของโครงการและผู้ชักชวนจะมีชีวิตที่หรูหรา ร่ำรวย และจิตใจดีอยากแบ่งปันความสุขสบาย จนทำให้ผู้ลงทุนคลายความสงสัยถึงกลไกการดำเนินการ และหลงเชื่อว่าสามารถสร้างผลกำไรมากมายในระยะเวลาอันสั้นได้จริง

ในต่างประเทศเองก็มีแชร์ลูกโซ่คริปโทฯ เกิดขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน เช่น โครงการ Onecoin ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่คริปโทฯ ที่มีระยะเวลาการดำเนินการยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอุตสาหกรรมคริปโทฯ เลยก็ว่าได้ โดย Onecoin ก่อตั้งขึ้นโดยนักฉ้อโกงชาวบัลแกเรีย ชื่อ Ruja Ignatova หรือที่รู้จักในชื่อ CryptoQueen ที่สามารถหลอกล่อเงินลงทุนจากนักลงทุนไปมูลค่ากว่า 5.8 พันล้านดอลลาร์ ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2014-2019

แผนการตลาดของ Onecoin ได้มีการชวนเชื่อว่ามีการร่วมทุนทางธุรกิจกับหลายบริษัทที่น่าเชื่อถือ สมาชิกที่ลงทุนใน Blockchain ของ Onecoin จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินสดในทุก ๆ ครั้งที่ Onecoin เข้าร่วมกับนักลงทุนรายใหม่ ทั้งที่ ความเป็นจริงแล้วเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องโกหก และ Onecoin ก็ไม่มีแม้กระทั่ง Blockchain เป็นของตัวเอง ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนได้ซื้อ หรือรับ Onecoin ไว้ ก็เท่ากับว่าพวกเขาถือเหรียญที่ไร้ค่าไว้ และไม่มีแม้กระทั้งระบบ Blockchain ที่มาสนับสนุนการมีอยู่ของเหรียญ Onecoin

หรือกรณีของ PlusToken หนึ่งในแชร์ลูกโซ่คริปโทฯ ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก กลโกงดังกล่าวดำเนินการผ่านแคมเปญการตลาด ทาง Application ส่งข้อความภาษาจีน WeChat ดึงดูดนักลงทุนด้วยการโฆษณาว่าสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน 10-30% ต่อเดือน PlusToken ได้ดึงดูดนักลงทุนกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รูปแบบธุรกิจจะโน้มน้าวให้นักลงทุนเพิ่มรายได้โดยการซื้อเหรียญ และ Token ของโครงการ PlusToken โดยหลังจากดำเนินโครงการได้หนึ่งปี ทีม PlusToken ก็ได้ปิดโครงการในปี 2019 และเชิดเงินลงทุนในโครงการมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์หนีไป

จากรูปแบบกลโกงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็ทำให้เกิดข้อสังเกตได้ว่า แชร์ลูกโซ่คริปโทฯ หรือ Crypto Ponzi Scheme จำนวนมากมีลักษณะร่วมกัน ดังต่อไปนี้ คือ 1) หลอกล่อว่ามีผลตอบแทนจากการลงทุนสูง โดยมีความเสี่ยงน้อยหรือไม่มีเลย 2) การันตีว่าจะได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมากจนเกินความเป็นจริง 3) มักเป็นการลงทุนกับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย 4) มักมีการอ้างว่า การดำเนินการ และค่าธรรมเนียม เป็นความลับและ/หรือมีความซับซ้อน 5) ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนขั้นต่ำ 6) มักมีการอ้างปัญหาเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ ขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการได้ยาก 7) ขอรับเงินลงทุนคืนได้ยาก และประการสำคัญ 8) มักเป็นการเชิญชวนมาจากบุคคลที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือจากสาธารณชน

หากคำเชื้อเชิญให้ลงทุนในโครงการสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ขอให้ผู้ลงทุนพึ่งระวังและศึกษาถึงที่มาที่ไปของโครงการให้ละเอียดก่อนทำการลงทุน โดยพึ่งระลึกเสมอว่า "If it's too good to be true, it probably is" อะไรก็ตามที่มันฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นจริง มันไม่ใช่เรื่องจริง !

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา

และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ