นายวิทวัส อัครพงศ์พิศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.โลหะกิจ เม็ททอล (LHK) เปิดเผยว่า บริษัทยอมรับว่าอัตราการทำกำไรของบริษัทในงวดปี 65/66 (เม.ษ.65-มี.ค.66) อาจจะปรับตัวดลงเมื่อเทียบกับงวดปี 64/65 (เม.ษ.64-มี.ค.65) ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 16.47% และ อัตรากำไรสุทธิ 9.10% เนื่องจากบริษัทเข้ามาให้ความสำคัญปริมาณการขายสินค้ามากขึ้นเพื่อเร่งระบายสต๊อก และเพื่อที่จะทำให้สินค้าที่จะขายต่อจากนี้สะท้อนต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ที่ปรับตัวลดลง
พร้อมกันนั้น บริษัทได้ปรับเป้าหมายการเติบโตของยอดขายงวดปี 65/66 (เม.ษ.65-มี.ค.66) ขึ้นเป็น 5% จากเดิมที่คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อนหน้า โดยเน้นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆเพิ่มเติมมากขึ้น และยังกลับมารับทีมขายใหม่เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อส่งไปปพูดคุยและจำหน่ายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าเดิมจากประเทศญีปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเกรดพรีเมี่ยมมากขึ้นด้วย
สำหรับภาพรวมแยกตามอุตสาหกรรมนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ลงเหลือ 1.75 ล้านคัน จากเดิม 1.8 ล้านคัน โดยเป็นส่วนการส่งออกลดลงจากเดิม 1 ล้านคัน เหลือ 9 แสนคัน โดยได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อที่จะสกัดเงินเฟ้อของหลายๆประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และกำลังซื้อปรับตัวลดลง
ขณะที่การขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเป็นปัญหาที่มีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ผลิตหลักที่มีเทคโนโลยีสามารถผลิตได้มีเพียงไม่กี่ราย ซึ่งผู้ผลิตหลักอยู่ในไต้หวัน ขณะที่ประเทศจีนยังคงใช้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อที่จะสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ด้วย
ด้านสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการภาครัฐ ปัจจุบันภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โครงการต่างๆเริ่มสามารถกลับมาดำเนินการได้ ทั้งในส่วนของการสร้างใหม่ ซ่อมแซม และปรับปรุง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของภาครัฐยังไม่ได้มีโครงการใหม่ๆออกมาเพิ่มเติม ยังคงต้องรอติดตามงบประมาณในปีงบประมาณถัดไปว่าจะเป็นอย่างไร
ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องยอมรับว่ามีผลกระทบค่อนข้างมากจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกมาถึง 70% ในส่วนนี้จะเป็นส่วนแรกๆที่ได้รับผลกระทบ
นายวิทวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในการจำหน่ายสินค้าจะปรับตัวลดลงก็ตาม แต่บริษัทได้เน้นการเข้ามาบริหารจัดการต้นทุนของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ในขณะเดียวกันยังได้มีการพูดคุยกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบในการผลิตได้ดียิ่งขึ้น