โบรกฯหนุน"ซื้อ"LPN มอง backlog สูง-มาตรการภาษีหนุน-จับลูกค้า C+ ถูกทาง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 28, 2008 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โบรกเกอร์ ประสานเสียงแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์(LPN)เพราะมีงานในมือ(Backlog)หรือยอดขายที่รอรับรู้รายได้ในปีนี้ค่อนข้างสูงถึงกว่า 6 พันล้านบาท ประกอบกับได้มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยิ่งทำให้บริษัทได้รับผลดี หลายโบรกฯได้ปรับประมาณการกำไรปีนี้ขึ้นไปอีก และบริษัทยังสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ถึงมากวก่า 30%
ด้วยกลยุทธ์ของ LPN ที่จับลูกค้าระดับ C+ ทำให้มีฐานลูกค้ากว้างขึ้น บวกกับปีนี้เน้นขายในราคาไม่สูงมากนักทำให้ผู้บริโภคสนใจเข้าจับจองคอนโดมิเนียมของบริษัท สอดคล้องกับแผนกระตุ้นของรัฐบาลที่ให้ธอส.ปล่อยกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 6 แสนบาทต่อราย ยิ่งทำให้บริษัทได้รับประโยชน์เต็มๆ
ราคายังมี upside gain อยู่มากจากราคาในตลาด รวมทั้งอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง ยิ่งทำให้หุ้น LPN น่าลงทุน ราคาปิด 27 มี.ค. อยู่ที่ 7.80 บาท
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
บล.เกียรตินาคิน ซื้อ 11.00
บล.สินเอเซีย ซื้อ 10.50
บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อ 10.00
บล.กสิกรไทย ซื้อ 9.40
บล.เคทีบี ซื้อ 9.25
บล.ไซรัส ซื้อ 9.05
บล.ดีบีเอสฯ ซื้อ 8.30
น.ส.สิรินัฎฐา เตชะศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่า LPN ถือเป็นบริษัทที่มี Backlog ที่รอรับรู้รายได้เกือบสูงที่สุดถ้าเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอสังหาฯ ด้วยกัน โดยปีนี้มี Backlog รอรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 6 พันล้านบาท รวมทั้งในปีนี้ยังได้ประโยชน์จากมาตราการภาษีกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ
คาดว่ากำไรของ LPN ในปีนี้จะเติบโตประมาณ 35% หรือ EPS อยู่ที่ 0.82 บาท/หุ้น รวมทั้งบริษัทยังมีอัตราผลตอบแทนจากเงินป้นผล(Dividend Yield)สูงในระดับ 5-6% ต่อปี
"LPN น่าลงทุน และแนะนำเป็นหุ้นเด่นของกลุ่มอสังหาฯ โดยรวมปีนี้น่าจะโตดี เพราะดูจากยอดขาย หรือ backlog ที่รอรับรู้รายได้ในปีนี้ค่อนข้างเยอะ และยังมีมาตรการภาษีของรัฐเข้ามาช่วยอีก" น.ส.สิรินัฎฐา กล่าว
นอกจากนี้ ล่าสุดทางรัฐบาลยังสั่งการให้ธนาคารอาคาสงเคราะห์(ธอส.)ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับเงินกู้ 6 แสนบาทแรกกับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก ซึ่ง LPN ได้ประโยชน์จากตรงนี้ เพราะกลุ่มลูกค้าอยู่ในระดับนี้ ราคาบ้านของ LPN ขายในราคาไม่สูง
ด้านนางสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี เห็นว่า แม้ผลประกอบการไตรมาส 1/51 จะปรับลงจากกรณีที่ลูกค้าชะลอการซื้อเพื่อรอผลมาตรการภาษี แต่คิดว่าเมื่อมาตรการภาษีมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าทั้งปี 51 ผลประกอบการจะทำได้ตามเป้า
ยอดพรีเซลในไตรมาส 1/51 อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท จากการเติบโตของโครงการคอนโดฯลุมพินี คอนโดทาวน์ รามคำแหง และ โครงการลุมพินี พระราม 8 และเชื่อว่า ไตรมาส 2/51 จะเติบโตก้าวกระโดด
นอกจากนี้ ยังมี backlog รอรับรู้รายได้ปีนี้แล้ว 6.9 พันล้านบาท จากที่เราตั้งเป้าหมายประมาณการรายได้ปีนี้ไว้ที่ 7.4 พันล้านบาท ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นก็ยังถือว่าอยู่ระดับสูงที่ 31.25%
"มองว่ามาตราการภาษีของภาครัฐน่าจะส่งผลดีต่อบริษัท และจะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นโดยเราปรับประมาณการจาก 1.13 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.26 พันล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นมาประมาณ 11% และ upside gain ก็ยังมีเยอะ"นางสุภากร กล่าว
นอกจากนี้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะอยู่ระดับ 5.5% ในปีนี้ โดยคาดว่าปีนี้บริษัทจะจ่ายเงินปันผล หุ้นละ 0.43 บาท จากปีก่อนที่จ่ายปันผล 0.32 บาทต่อหุ้น
บทวิเคราะห์ของบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)มองว่า กำไรสุทธิไตรมาส 1/51 อ่อนลงเป็นเรื่องชั่วคราว แม้รายได้ทรงตัวที่ 1 พันล้านบาท เพราะรับรู้รายได้จากคอนโดทาวน์ที่ให้อัตรากำไรขั้นต้นต่ำ ส่วนรายได้ในไตรมาส 1/51 ไม่เข้าเป้าเพราะลูกค้ารอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
แต่คาดว่ากำไรสุทธิในในไตรมาส 2/51 จะกลับมาสดใสมาก เพราะรายได้ที่อั้นไว้จะมารับรู้ในไตรมาสนี้แทน เป็นประมาณ 3.0 พันล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรกังวลกรณีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/51 ที่อ่อนลง
ขณะเดียวกันยอดขายรอรับรู้รายได้(Backlog) แข็งแกร่งเป็น 10.8 พันล้านบาท สามารถรับรู้รายได้ปีนี้ 6.9 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับคาดการณ์รายได้ปีนี้ที่ 7.6 พันล้านบาทแล้ว และเหลือไปรับรู้ปี 52 อีก 3.9 พันล้านบาท
บล.กรุงศรีอยุธยา มองว่า ราคาหุ้น LPN นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา underperform กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่โครงการแนวราบ คาดว่ามีสาเหตุจากความเข้มงวดในด้านกฎเกณฑ์ในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม, การแข่งขันจากคู่แข่งรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น และผลบวกจากมาตรการลดภาษีที่ส่งผลกระทบต่อโครงการคอนโดมิเนียมน้อยกว่าโครงการแนวราบ
แต่หากพิจารณาจุดเด่นของ LPN ที่ศักยภาพของผลประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดีในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐาน Backlog ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามยอดขายโครงการเปิดใหม่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับ P/E และ P/BV ของ LPN ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม เทียบกับอัตราเติบโตของ EPS ในปี 51 ของ LPN ที่ 32.4% จากปีก่อน
ในปี 51 บริษัทมีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใหม่ประมาณ 6-8 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 12 พันล้านบาท เน้นเปิดโครงการแบรนด์ คอนโดทาวน์ ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับ Low-end ของตลาดคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้นเป็น 60% ของมูลค่าโครงการเปิดใหม่โดยรวม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นในกลุ่มคอนโดมิเนียมระดับราคาขายเฉลี่ย 1-3 ล้านบาทต่อยูนิตที่ในปี 50 มีสัดส่วนสูงถึง 48% ของมูลค่าโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่โดย
"เรามองว่าการเพิ่มพอร์ตแบรนด์คอนโดทาวน์ที่มีราคาขายเฉลี่ยต่อยูนิต 6 แสนบาทเจาะกลุ่มลูกค้าระดับ Low-end สอดคล้องกับการออกมาตรการกระตุ้นรากหญ้า"บทวิเคราะห์ของบล.กรุงศรีอยุธยา ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ