นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ใน 8 เดือนแรกปี 65 แม้จะมีความไม่แน่นอนจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ แต่ SET Index มีความผันผวนน้อยกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักอื่นๆ สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ อีกทั้งผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตดี โดยเฉพาะในไตรมาส 2/65 ที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีกำไรสุทธิรวม 3.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ Historical และ Forward PE ratio ของ SET Index ยังมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง บจ. มีโอกาสเพิ่มอัตราจ่ายปันผลสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงาน อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ทำให้อัตราการจ่ายปันผลในอนาคตมีแนวโน้มดีขึ้น
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน ส.ค.65 SET Index ปิดที่ 1,638.93 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 4.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 1.1%
SET Index ใน 8 เดือนแรกปี 65 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ และกลุ่มทรัพยากร
ในเดือน ส.ค.65 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 75,205 ล้านบาท ลดลง 18.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ใน 8 เดือนแรกปี 65 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 82,747 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิถึง 57,014 ล้านบาท ทำให้ใน 8 เดือนแรกปี 65 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 170,744 ล้านบาท อีกทั้งผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
ในเดือน ส.ค.65 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) และใน mai 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.ยงคอนกรีต (YONG) โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 65 อยู่ยังในระดับต้นๆ ของเอเซีย
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน ส.ค.65 อยู่ที่ระดับ 15.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.6 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.2 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือน ส.ค.65 อยู่ที่ระดับ 2.78% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.00%
ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือน ส.ค.65 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 496,575 สัญญา เพิ่มขึ้น 6.7% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 65 TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 548,981 สัญญา เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน