IPOInsight: TEGH ผนึกพันธมิตรระดับโลกปักธงขึ้น TOP 5 บนเส้นทาง BCG Model

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 12, 2022 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากตัวเลขดีมานด์ยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหลังภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว ประกอบกับการที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน ให้ความสำคัญไปยังการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างสมดุล จึงนับเป็นก้าวสำคัญของ บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) ที่เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 270 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายและปรับปรุงกระบวนการผลิต และใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการของบริษัทให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจการเกษตร

*เจาะลึกโครงสร้าง 3 ธุรกิจ ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก

นางสาวสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบไปด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ 2) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ และ 3) ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์ ผ่านการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้งหมด 11 บริษัท และการร่วมค้า 1 บริษัท

"เราคือผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราและน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในภาคตะวันออก และเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพแบบครบวงจรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ลักษณะธุรกิจของเราเน้นในการจัดทำอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมุ่งเน้นเรื่องการเติบโตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างสมดุล" นางสาวสินีนุช กล่าว

*ชูสินค้ายาง Eco Product ตอบโจทย์ลูกค้าชั้นนำทั่วโลก

สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ นับว่าเป็นสัดส่วนรายได้หลักราว 80% บริษัทมีทั้งโรงงานยางแท่งและโรงงานยางแท่งเกรดพิเศษ และทาง TEGH มีโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่อย่าง Sumitomo Rubber Industries ของประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 โครงการคือ 1) โครงการโรงงานยางแท่งเกรดพิเศษ จังหวัดอุดรธานี และ 2) โครงการสวนยางพาราขนาดใหญ่ เนื้อที่ 6.3 พันไร่ ในจังหวัดหนองบัวลำภู

"โครงการนี้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ราคายางในอดีตสูงถึง 180-200 บาท ซึ่งทางลูกค้ามองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมี Supply Chain ที่มีความยั่งยืน ลูกค้าจึงเริ่มมองหา Strategic Partner ในไทย และเราก็เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ร่วมโครงการนี้ เนื่องจากว่าเราเป็น Supplier กันมาก่อน และเราผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้กับ Sumitomo ลูกค้าจึงให้ความไว้วางใจกับเรา" นางสาวสินีนุชกล่าว

นอกจากโรงงานผลิตยางแท่งและยางแท่งเกรดพิเศษแล้ว บริษัทยังมีโรงงานน้ำยางข้นเพื่อส่งให้ลูกค้าสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลาย เช่น ถุงมือ เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย หมอน และที่นอนยางพาราอีกด้วย

โดยกระบวนการสรรหาวัตถุดิบจะมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เกษตรกรมาส่งวัตถุดิบที่หน้าโรงงาน หรือ เกษตรกรสามารถส่งวัตถุดิบได้ที่จุดรวมวัตถุดิบตามแต่ละภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร และรูปแบบสุดท้ายคือการเข้าประมูลวัตถุดิบ เช่น การเข้าประมูลกับกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ TEGH จะเน้นการผลิตสินค้าที่เป็น Premium Quality ตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็น Premium Brand ซึ่ง ณ ปัจจุบันบริษัทผลิตยางแท่งจำหน่ายให้แบรนด์ยางล้อมากกว่า 64 แบรนด์ทั่วโลก ผ่านการจำหน่ายในลักษณะการขายตรงกับลูกค้า ไม่ต้องพึ่งพาการขายผ่าน Trader จึงทำให้การเติบโตของบริษัทจะก้าวไปพร้อม ๆ กันกับลูกค้า

"สินค้าของเราเป็น Eco Product เพราะสินค้ายางแท่งของเราผลิตจากพลังงานทดแทน ใช้พลังงานชีวภาพในกระบวนการผลิตมากกว่า 90% และสินค้าของเรายังโดดเด่นเรื่อง Sustainable Material มีความยั่งยืนทั้ง Supply Chain เราเข้าไปมีส่วนร่วมกับเกษตรกรให้มีการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน และวัตถุดิบที่ได้ก็นำไปขอการรับรอง เช่น ยางแท่งของเราได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน (Forest Management Certifiacation:FSC) ถือว่าเราเป็นผู้ผลิตยางแท่งรายแรกในไทยที่ได้รับมาตรฐานการรับรองนี้ ส่วนน้ำยางข้นก็เช่นกัน เราเป็นโรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Global Organic Latex Standard" นางสาวสินีนุชกล่าว

*ตัวเลขดีมานด์ยางพุ่ง ตลาดใหม่-เทรนด์ EV หนุน

จากตัวเลขประมาณการของ International Rubber Study Group (IRSG) ประเมินว่าความต้องการยางพาราในปีนี้จะมากกว่าผลผลิตที่ได้ออกมา เนื่องจากประเทศอินโดนีเซีย เกิดปัญหาโรคใบร่วงในต้นยางพาราทำให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับในช่วงปี 62-63 ที่ผ่านมา บริษัทมีการเปิดตลาดเพิ่มในประเทศจีน เนื่องจากตลาดอย่างอินเดีย ยุโรป สหรัฐฯ ใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่ ณ ปัจจุบันสถานการณ์ในแต่ละประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ความต้องการยางพาราเพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงคาดว่าธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางพาราในปีนี้ยังคงมีทิศทางที่สดใส

"ถึงแม้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ดีมานด์ของลูกค้ายังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงมองว่าในอนาคตมันจะมีดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอีก ทั้งจากตลาดรถยนต์ EV เพราะว่ามาตรการโดยเฉพาะในยุโรปจะเริ่มเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ EV มากขึ้น หรือในบางประเทศก็มีนโยบายใช้รถยนต์ได้ไม่เกิน 5 ปี เพราะฉะนั้นปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้" นางสาวสินีนุชกล่าว

*จับ Organic Waste ยาง-ปาล์ม ต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทน

สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ สามารถแบ่งเป็น 2 ผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ได้แก่ 1) น้ำมันปาล์มดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดได้จากผลปาล์มสด สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมได้หลากหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ หรืออุตสาหกรรมไบโอดีเซล เป็นต้น

และ 2) น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดได้จากเมล็ดในปาล์มดิบ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมโอลีโอเคมีคอล อุตสาหกรรมไบโอดีเซล หรืออุตสาหกรรมการผลิตกรดไขมันประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

จนกระทั่งในปี 53 บริษัทได้ขยายมาสู่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ และไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 61 ได้ขยายสู่ธุรกิจการรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ ภายใต้แนวคิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

"เราอยู่ในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักของไทยทั้ง 2 ตัว คือยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งมันก่อให้เกิดของเสีย (Waste) แต่เป็น Organic Waste เพราะฉะนั้นเราจึงคิดค้นและพัฒนาระบบ Digester (ระบบย่อยแบบชีวภาพ) ของเราขึ้นมา ให้จุลินทรีย์สามารถย่อยสลายได้อย่างหลากหลาย ทั้งกากของแข็ง กากของเหลว กากอาหารสัตว์ กากไขมันสัตว์

เราทำให้ Waste เกิดเป็นพลังงาน (Energy) และนำ Energy มาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้เรามีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพราะเรามีการกำจัด Waste ที่ถูกวิธี จึงเกิดเป็น Bio Circular Green Economy อย่างแท้จริง" นางสาวสินีนุชกล่าว

TEGH ประเมินว่าธุรกิจดังกล่า จะก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงและมีอัตรามาร์จิ้นในระดับสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ Seasonal สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับพื้นที่ EEC ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอีกมากที่ประกอบธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจที่มี Organic Waste เช่นกัน บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการเติบโตอีกมาก ในธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์

*ระดมทุนขยายกำลังผลิตสู่เป้ารายได้ 2 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี

นางสาวสินีนุช อธิบายให้ฟังว่า วัตถุประสงค์ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ คือ จะเป็นเงินลงทุนสำหรับขยายธุรกิจและการลงทุนโครงการในอนาคตของบริษัท รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน อีกทั้งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

สำหรับแผนการเติบโตระยะยาวช่วง 5 ปี (65-69) TEGH ยังคงเดินหน้าพัฒนา 3 ธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ ที่มีแผนขยายกำลังการผลิตยางแท่งจากปัจจุบันที่ 240,000 ตัน/ปี ขยับสู่ 410,000 ตัน/ปี เพื่อก้าวสู่การเป็น Top 5 ของผู้ผลิตยางแท่งในประเทศไทย ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบมีแผนขยายกำลังผลิตจาก 470,000 ตัน/ปี เป็น 730,000 ตัน/ปี

ขณะที่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์ บริษัทวางแผนขยายกำลังผลิตรับบริหารจัดการกากอินทรีย์จาก 600,000 ตัน/ปี สู่ 1,000,000 ตัน/ปี และขยายกำลังผลิตไบโอแก๊สจาก 23 ล้านลูกบาศก์/ปี สู่ 67 ล้านลูกบาศก์/ปี ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับให้ TEGH ก้าวสู่การเป็น Organic Waste Management Hub ในพื้นที่ EEC และจากแผนเดินหน้าพัฒนาทั้ง 3 ธุรกิจ บริษัทคาดว่าจะสร้างรายได้จาก 11,000 ล้านบาทในปี 64 สู่ 22,000 ล้านบาทในปี 69

"บริษัทมองว่าวิกฤติที่ใหญ่กว่า Recession คือ Climate Change เพราะปัญหานี้มันจะส่งต่อถึงรุ่นถัด ๆ ไป เพราะฉะนั้นการทำอุตสาหกรรมควบคู่กับการดูแลระบบนิเวศอย่างสมดุล จะทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าดูจากแผนขยายกำลังการผลิตแล้ว หลัก ๆ จะอยู่ที่ส่วนของพลังงานทดแทน ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อีก อย่างทุกวันนี้เรามีการวิจัยและพัฒนาเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ ที่ในอนาคตเราอาจจะทำออกมาช่วยเกษตรกรที่ต้องพบปัญหาปุ๋ยแพงในทุกวันนี้" นางสาวสินีนุชกล่าว

นางสาวสินีนุช กล่าวอีกว่า TEGH ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานทดแทนที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ณ ปัจจุบันได้เซ็นสัญญาความร่วมมือวิจัยและพัฒนากับหลายองค์กร และบริษัทยังคงมองหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจเพิ่มเติม ที่จะเข้ามาร่วมต่อยอดสินค้าและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

"ที่ผ่านมาเราเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Sumitomo Rubber Industries ของประเทศญี่ปุ่นและ Sime Darby Oils ของมาเลเซีย ซึ่งนับเป็น Global Partners ในส่วนของยางล้อและปาล์มน้ำมันของโลก และในอนาคตเรามองเห็นโอกาสที่จะหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติม เพื่อมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของเรา มาต่อยอดจากสิ่งที่เรามี ที่สำคัญคือถ้ามาเข้าร่วมกับเรา จะสามารถใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เรื่อง Carbon Neutral ในอนาคตอีกด้วย" นางสาวสินีนุชกล่าว

https://youtu.be/4FI2w4OQx6Q


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ