นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีโอกาส Sideway Up โดยต่างประเทศคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐอาจเพิ่มขึ้นแตะ 8.1% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอลงเมื่อเทียบกับระดับ 8.5% ในเดือน ก.ค. แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อได้ผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว ทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งหน้าอาจจะลดความร้อนแรงลงได้
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เฟดแสดงความเห็นว่าดัชนี CPI ชะลอตัวเพียงเดือนเดียวคงยังไม่พอ และยังส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายไปมาก ดังนั้นจึงคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% และให้น้ำหนักเพียง 10% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI รีบาวด์ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานหนุนให้การเคลื่อนไหวของดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,620-1,670 จุด
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันด้านลบต่างๆ อาทิ
สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม
สัปดาห์ที่ 4 แถลงยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์, กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า
สัปดาห์ที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค, วันที่ 28 ก.ย. ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2565 และ วันที่ 30 ก.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ
วันที่ 13 ก.ย. สหภาพยุโรป (อียู) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ของยูโรโซนจากสถาบัน ZEW, สหรัฐ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค.
วันที่ 14 ก.ย. สหรัฐ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ส.ค. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) , อียู รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.
วันที่ 15 ก.ย. สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ,ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีการผลิตเดือนก.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย และ วันที่ 20-21 ก.ย. ประชุมเฟด
แนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่ได้ประโยชน์จากปัญหาวิกฤตพลังงานทั้งในยุโรปและจีน โดยล่าสุดจีนขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากน้ำในเขื่อนแล้งไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ จึงหันมาใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อชดเชยไฟฟ้าที่หายไปจากเขื่อน ซึ่งหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ PRM, VL, BANPU, LANNA และ AGE
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า ภาพรวมทองคำในเดือนที่ผ่านมา Upside จำกัด และยังไร้ปัจจัยหนุนที่ชัดเจน เนื่องจากช่วงปลายเดือนถูกกดดันจากการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล โดยเฟดพยายามสกัดเงินเฟ้อให้อ่อนลงแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบเชิงลบ ความกังวลดังกล่าวสะท้อนผ่านพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นระดับ 3.30% สอดคล้องกับดัชนีดอลลาร์ที่เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 109.00 กดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลงทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,690 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ขณะที่ SPDR เทขายต่อเนื่อง 4.93 ตัน
ดังนั้น ในเดือนนี้ราคาทองคำถูกกดดันต่อเนื่องจากช่วงต้นเดือน โดยคาดว่าตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง อาจทำให้ช่วงปลายเดือนที่จะมีการประชุม FOMC เฟดอาจพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.50% เป็น 0.75% ซึ่งสอดคล้องกับ Fed Watch ที่ให้น้ำหนักมากถึง 90% ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และให้น้ำหนัก 10% ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หากเป็นไปตามแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้กรอบดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 3.00-3.25% เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบ 1,685-1,750 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ โดยยังมีปัจจัยกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อีกทั้งยังไร้ปัจจัยหนุนใหม่ คำแนะนำไม่หลุดแนวรับข้างต้นให้ทยอยเข้าซื้อสะสม