โบรกเกอร์ต่างแนะนำ "ซื้อ" หุ้นบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) จากการเข้าลงทุนในโครงการ Jackson ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NG) ในสหรัฐ ในสัดส่วน 49% ด้วยเงินลงทุน 410 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.49 หมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้กำลังการผลิตของ GULF จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าการซื้อหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมได้เต็มปีในปี 66 ทำให้คาดว่ากำไรไตรมาส 1/66 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง จากไตรมาส 4/65
ขณะที่ราคาหุ้น แม้มีการปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยการเข้าลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้มีอัพไซด์ต่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอีก
ราคาหุ้น GULF ปิดเที่ยงอยู่ที่ 56.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท (+1.35%) ขณะที่ ดัชนี SET บวก 0.24%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เอเซีย พลัส ซื้อ 65.50 หยวนต้า ซื้อ 66.00 ยูโอบีฯ ซื้อ 63.00 อินโนเวสท์ เอกซ์ ซื้อ 63.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 60.00 บัวหลวง ซื้อ 66.00 พาย ซื้อ 58.00 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 56.00
นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อการเข้าลงทุนในโครงการ Jackson เนื่องด้วย 1. เป็นโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ หรือมีค่าความร้อนแก๊ส (Heat rate) ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน ทำให้มาร์จิ้นสูง 2. โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อยู่ในทำเลที่มีซัพพลาย จากเชื่อมต่อกับท่อก๊าซฯ หลักถึง 3 เส้น ทำให้มีคอนแทคขายไฟฟ้าและสามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโครงการได้ในระยะยาว 3. อยู่ในทำเลที่มีดีมานด์การใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในสหรัฐ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 13 รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ อิลลินอยส์ อินดิแอนา เคนทักกี แมริแลนด์ มิชิแกน นิวเจอร์ซีย์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย เทนเนสซี เวอร์จิเนีย และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย เป็นต้น
อีกทั้งกลุ่ม J-Power ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ที่มีความแข็งแกร่ง ก็มองว่าจะมีแผนลงทุนร่วมกันกับ GULF อีกมาก ใน Renewable ขนาดใหญ่ในสหรัฐ หลังจากโครงการ Jackson เป็นโปรเจคแรก
โดย Consensus ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 56 บาท/หุ้น มองยังมีอัพไซด์ จากยังไม่ได้นำการลงทุนดังกล่าวเข้าไปในประมาณการ
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำซื้อหุ้น GULF โดยให้ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 65.50 บาท เนื่องจากฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าลงทุนในโครงการ Jackson ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของ GULF ให้เติบโตขึ้นอีก 7.3% ของกำลังการผลิตทั้งหมดที่มีในมือในปัจจุบัน 8.1 พันเมกะวัตต์ ไปสู่ 8.7 พันเมกะวัตต์ ในปี 70 อีกทั้งยังถือเป็นการกระจายการลงทุนของ portfolio ไปสู่ตลาดพลังงานของสหรัฐอเมริกา และช่วยให้ GULF สามารถรับรู้ผลประกอบการเข้ามาได้ทันทีหลังจากที่ดีลแล้วเสร็จ คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในเดือนธ.ค.65
นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยเปิดโอกาสการร่วมลงทุนกับกลุ่ม J-Power ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ที่สุดของโลก มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งจะช่วยต่อยอดโอกาสในการเข้าลงทุนโครงการใหม่ๆในอนาคต
สำหรับเงินลงทุนในโครงการครั้งนี้อยู่ที่ 409.6 ล้านเหรียญฯ หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากการขายหุ้น 50% ในโรงไฟฟ้า BRK2 ประเทศเยอรมนี ราว 1.1 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือมาจากการออกหุ้นกู้ครั้งล่าสุดอีกราว 400 ล้านบาท โดยฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐาน เงินลงทุน/เมกะวัตต์ อยู่ที่ 0.7 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าการก่สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯขึ้นใหม่ที่มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ราว 1.2 ล้านเหรียญฯ/เมกะวัตต์ สัดส่วน D/E โครงการอยู่ที่ 1:1 อัตราดอกเบี้ย 4% และสมมติฐานต้นทุนก๊ซฯเฉลี่ยอยู่ที่ 7 เหรียญฯล้านบีทียู
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุสัญญาโครงการ ซึ่งผู้บริหารตั้งเป้าให้สามารถเปิดดำเนินการได้ราว 40 ปี อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานอายุโครงการในเบื้องต้นที่ 30 ปี ภายใต้หลักความระมัดระวัง ซึ่งคาดจะช่วยให้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการดังกล่าวที่ราว 29-3 พันล้านบาท/ปี คิดเป็น EIRR ที่ 16% และประเมินมูลค่าโครงการฯ ยู่ที่ 3.5 บาท/หุ้น
ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปี 66 เป็นต้นไป เพื่อสะท้อน 1.การรวมโครงการโรงไฟฟ้า Jackson กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 49% ที่ 588 เมกะวัตต์ ไว้ในประมาณการ 2.การปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้า BRK2 ลงเหลือ 25% จากเดิม 50% และถอดโครงการดังกล่าวออกจากงบการเงินรวม เปลี่ยนเป็นรับรู้กำไรด้วยวิธีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ส่งผลให้ GULF คาดจะรับรู้กำไรจากโครงการดังกล่าวเหลือเพียงราว 650-700 ล้านบาท/ปี จากเดิมราว 1.3-1.4 พันล้านบาท/ปี ซึ่งภายใต้ประมาณการใหม่ ส่งผลให้ กำไรปกติปี 66-67 เพิ่มขึ้น 16.0% และ 13.6% จากเดิมมาอยู่ราว 1.9 หมื่นล้านบาท และ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 31.19 yoy และ 18.3%yoy ตามลำดับ
ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 66 ของ GULF อยู่ที่ 65.5 บาพ/หุ้น ซึ่งรวมโครงการ Jackson ไว้ในประมาณการแล้ว ทั้งนี้ยังมี upside ส่วนเพิ่มจากโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ถูกรวมในประมาณการอีก 2 โครงการ ได้แก่ Pak Beng ราว 1.5-2.5 บาท/หุ้น และ Pak Lay ราว 1-2 บาท/หุ้น ที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา PPA ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 65
ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังมี upside จาก Future Value (FV) ใหม่เกือบ 16% จึงแนะนำให้หาจังหวะทยอยสะสมลงทุน รับการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว
บล.หยวนต้า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปรับราคาเป้าหมายสิ้นปี 66 เพิ่มขึ้นเป็น 66.00 บาท จากเดิม 59.00 บาท มี Upside gain 16.8% คงคำแนะนำ ซื้อ แม้ว่าราคาหุ้นปรับขึ้นค่อนข้างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ด้วยผลตอบแทนจากโครงการ Jackson ดีกว่าที่คาดและตลาดคาดค่อนข้างมากทำให้ PER66 ลดลงเหลือ 35.1 เท่า
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. GULF แจ้งตลาดฯ ว่าได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับ J-Power ในการซื้อหุ้นของ Jackson generation (Jackson) สัดส่วน 49% ด้วยเงินลงทุน 410 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.49 หมื่นล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 9 ก.ย.) โดย GULF จะใช้เงินลงทุนจากการขาย BKR2 ราว 1.0 หมื่นล้านบาท และเงินกู้อีกเพียง 5.0 พันล้านบาท
Jackson เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NG) เป็นเชื้อเพลิงตั้งอยู่ในเขต PJM (Pennsyvania-New Jersey-Maryland Interconnection) COD เมื่อ 5 พ.ค. ภายใต้ตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี อายุการใช้งานเหลืออีกไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่กว่าโรงไฟฟ้าในพื้นที่เดียวกัน มี Heat rate 6,400-6,800 BTUKWh เทียบกับตลาดอยู่ที่ 9,000-11,500 BTUKWh ทำให้มีส่วนต่างในการเสนอบิดได้ในราคาดีกว่าตลาด และหากราคา NG สูงขึ้นจะยิ่งมีอัตรากำไรสูงขึ้นเพราะขายไฟได้ในราคาตลาดแต่ Heat rate ต่ำกว่า
คาดกำไรต่อเกมะวัตต์ ราว 5.5 ล้านบาท/ปี โดย GULF รับรู้ผลประกอบการในรูปส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม เราคาดที่ 3.2 พันล้านบาท/ปี ณ ราคา NG ปัจจุบัน หากรวมโครงการ Jackson จะทำให้ GULF มีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 15,868 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ คือ ประเทศไทย 16,630 เมกะวัตต์, เวียดนาม 247 เมกะวัตต์, เยอรมัน465 เมกะวัตต์ และโอมาน 326 เมกะวัตต์ และสหรัฐฯ 1,200 เมกะวัตต์ หากคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นจะอยู่ที่ 8,678 มกะวัตต์
โอกาสของการเติบโตของจำนวนเมกะวัตต์ ของ GULF นอกเหนือจากแผน PDP ไทยและเวียดนามที่มีขนาดตลาดรวมกันคาดว่าจะสูงถึง 40,000 เมกะวัตต์ ยังมีโอกาสจากประเทศในกลุ่มตะวันตกทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากมีพันธมิตรระดับโลกจำนวนมากและทั่วโลกมีแนวโน้มของการเพิ่มจำนวนโรงฟฟ้าแบบพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อลดปริมาณคาร์บอนและลดความเสี่ยงเรื่องการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปทำให้มีโอกาสในการได้โครงการใหม่เข้ามาต่อเนื่อง
ปัจจุบัน GULF อยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยคาดว่าขนาดเมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะใกล้เคียงกับโครงการ Jackson
ทั้งนี้คาดว่าการซื้อหุ้นของ Jackson จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมได้เต็มปีในปี 66 ทำให้คาดว่าหลังจากที่กำไรปกติไตรมาส 4/65 จะทำระดับสูงสุดใหม่แล้ว กำไรปกติในไตรมาส 1/66 จะสามารถทำกำไรสูงสุดได้ต่อเนื่อง คาดส่วนแบ่งกำไรจาก Jackson ในปี 65 ที่ 3.2 พันล้านบาท ทำให้ประมาณการกำไรปี 66 หลังภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม 16% เป็น 18,900 ล้านบาท (+30.1%YOY)