นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายงานสนับสนุน) บล.บียอนด์ (BYD) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับเงินค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) รวม 1,313,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 7.062 บาท มูลค่ารวมกว่า 9,272 ล้านบาทครบถ้วนเรียบร้อยแล้วในวันนี้ หลังจากนี้คาดว่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุน PP ทั้งหมด 3 ราย แสดงความประสงค์ไม่ขายหุ้นตามระยะเวลาที่กำหนด โดย บจก. อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จะไม่ขายหุ้นเป็นเวลา 3 ปี, นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ จะไม่ขายหุ้นเป็นเวลา 1 ปี และ นายลุชัย ภุขันอนันต์ จะไม่ขายหุ้นเป็นเวลา 1 ปี
บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PP ไปให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ผู้ให้บริการเดินรถประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องด้วยรถบัสไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทที่ BYD เข้าลงทุนผ่าน บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) ที่ถือหุ้นใน TSB ทั้ง 100%
บริษัทจะให้กู้ยืมเงินทุนระยะยาวแก้ TSB ระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี วงเงินรวม 8,550 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้จะได้รับดอกเบี้ยเงินกู้เข้ามาตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานเทิร์นอะราวด์ได้เร็วขึ้น และในอนาคตยังจะได้รับเงินปันผลในฐานะผู้ถือหุ้นเข้ามาไม่เกินปี 68
TSB มีแผนลงทุนเช้าซื้อกิจการ บริษัท อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง จำกัด (ETH) จากบริษัท อีเอ โมบิลิตีโฮลดิง จำกัด (EMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ถือหุ้น 100% ทั้งนี้เพื่อขยายเส้นทางการให้บริการรถโดยสารประจำทางแบบ Smart Bus อีก 37 เส้นทาง รวมทั้งให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาและเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าผ่าน E Smart Transport มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น จะซื้อหุ้น EXA (เจ้าของใบอนุญาตเดินรถโดยสารประจำทาง 2 เส้นทาง) และ RJR (เจ้าของใบอนุญาตเดินรถโดยสารประจำทาง 4 เส้นทาง) มูลค่า 190 ล้านบาท, จ่ายค่าซื้อ E Bus บางส่วน มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท, สร้างอู่จอดรถ สำนักงาน และงานดูแลรักษา มูลค่า 100 ล้านบาท, ลงทุนในระบบ Single network รถ-เรือ มูลค่า 200 ล้านบาท และเป็นเงินสำรอง หรือเงินทุนหมุนเวียนอีก 60 ล้านบาท
สืบเนื่องจาก TSB ได้รับแจ้งจากกรมการขนส่งทางบกกลางให้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใน 71 เส้นทาง ซึ่งภายใต้เงื่อนไขของกรมขนส่ง TSB จะต้องบรรจุรถบัสไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวน 758 คัน และสูงสุด 2,130 คัน เข้าไปภายใน 180 วัน หรือภายในเดือนต.ค.นี้ ส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 8 เส้นทาง เป็น 79 เส้นทาง และมีความจำเป็นต้องลงทุนจัดซื้อ E Bus เพื่อให้ได้ตามจำนวนขั้นต่ำตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้
ปัจจุบัน TSB อยู่ระหว่างจัดหา E Bus เพิ่มเติม โดยประเมินราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท/คัน ซึ่งจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะรวมทั้ง 8 สายเดิมที่กลุ่ม TSB ให้บริการอยู่ ซึ่งต้องเพิ่มจำนวนรถอีก 96 คัน, 71 สายใหม่ของ TSB ที่ต้องเพิ่มจำนวนรถอีก 758 คันภายในปีนี้, 2 สายของ EXA จำนวน 19 คัน และ 4 สายของ RJR จำนวน 23 คัน รวมเป็นเกือบ 900 คันที่จะซื้อภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะได้รับมอบรถบัสไฟฟ้าเข้ามาตามเป้าหมายที่วางไว้ และส่งผลให้จะมีรถบัสไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 คัน
นอกจากนั้น บริษัทยังตั้งเป้าหมายเพิ่มเติมเพื่อให้มีจำนวนรถ E Bus อีก 150 คันในปีนี้ด้วย
TSB จะลงทุนซื้อ E Bus ด้วยเงินที่ได้จากการกู้ยืมจากบริษัทจำนวน 2,000 ล้านบาท และสินเชื่อจากผู้ขาย (Supplier credit) และผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถ
นางสาวออมสิน กล่าวว่า บริษัทประมาณการรายได้รถบัสไฟฟ้าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท/คัน/วัน และคาดว่าในระยะเวลา 3 ปี (65-67) สัดส่วนรายได้จากธุรกิจเดินรถก็จะมากกว่าธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
ส่วนธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปัจจุบันเริ่มถึงจุดคุ้มทุนแล้ว หลังได้พัฒนาโปรแกรมเทรด "Beyond Intelligence Trading" (MT5) ร่วมกับคู่ค้า เพื่อตอบสนองลูกค้า มุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการ และยังเป็นการขยายฐานลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งในสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้คาดว่าจะสามารถเทิร์นอะราวด์ได้ในเร็วๆ นี้