BEM คาดกำไรโต V Shape ทะลุช่วงก่อนโควิดในปี 66 ยันไม่เพิ่มทุนหากคว้าสายสีส้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 14, 2022 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คาดว่ากำไรบริษัทจะกลับมาเติบโตแบบ V Shape โดยคาดว่าทั้งปี 65 จะมีกำไรมากกว่า 2,000 ล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิแล้ว 970 ล้านบาท และในปี 66 กำไรจะเติบโตขึ้นไปเป็นมากกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าดีกว่าช่วงเกิดโควิด

ขณะที่รายได้ในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และขะเพิ่มเป็น 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 66 หลังจากช่วงปี 62-64 มีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท, 1.4 หมื่นล้านบาท และ 1.1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและปริมาณจราจรบนทางด่วนฟื้นตัวได้เร็ว คาดว่าภายในสิ้นปีจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า

ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะสูงขึ้นไปแตะ 4.5 แสนเที่ยว/วัน และในปี 66 จะขึ้นไปใกล้ 5 แสนเที่ยว/วัน เนื่องจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเปิดให้บริการครบทั้งเส้นทาง ประกอบกับการเปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โครงการ One Bangkok, Singha Estate, Samyan Mitrtown รวมทั้งการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง โดยปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 แสนเที่ยว/วัน คิดเป็น 85% ของปริมาณผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด ขณะที่ BEM มีขบวนรถอยู่ 54 ขบวน

ส่วนปริมาณผู้ใช้ทางด่วน ฟื้นตัวกลับมาเร็วมาก โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้ทางเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.1 ล้านเที่ยว/วัน คิดเป็น 90% ของปริมาณผู้ใช้ทางก่อนเกิดโควิด

"ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 รายได้ของบริษัทฯ หายไปกว่า 60% แต่บริษัทฯ ก็ได้ยืนหยัดดำเนินธุรกิจฝ่าช่วงวิกฤติมาอย่างเต็มที่ ปีหน้าจะเป็นปีที่ต่อยอดไป S-Curve ซึ่งสายสีส้มก็จะเป็น S-Curve ใหม่เติมเข้ามา"นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวถึงการประมูลร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม. ) ได้แจ้งให้บริษัททราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่า บริษัทผ่านเกณฑ์ และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐดีที่สุด คือ -78,287.95 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอด้านการเงิน

บริษัทมั่นใจว่าข้อเสนอของบริษัทเป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนด ทั้งในส่วนของข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยบริษัทฯ ก็สามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม. ได้

หากบริษัทได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานฯ บริษัทพร้อมจะเริ่มงานได้ทันที โดยมี บมจ.ช.การช่าง (CK) เป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอย่างมาก โดยมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้ภายใน 3 ปีครึ่ง และส่วนตะวันตกได้ภายใน 6 ปี ตามแผนงานของ รฟม. ถือเป็นจุดเด่นของบริษัทที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญา เป็นไปตามแผน หรือก่อนแผนเสมอ

"บริษัทยังคงมั่นใจว่าข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้มของบริษัทฯ เป็นประโยชน์ต่อรัฐ การก่อสร้างและการเปิดบริการ จะต้องประสบผลสำเร็จตามแผน ไม่มีการล่าช้า และต้องมีคุณภาพการบริการแก่ประชาชนที่ดี ตอบแทนคืนกลับสู่สังคมอย่างเต็มที่?.เราไม่กังวลว่าใครจะฟ้องร้อง และเราก็ไม่ร้องเรียนใคร เราไม่ได้เอาเรื่องร้องเรียนมาเป็นอาวุธ"นายสมบัติ กล่าวถึงกรณีที่เอกชนบางรายพาดพิงว่ามีข้อเสนอที่ดีกว่า

นายสมบัติยังกล่าวอีกว่า บริษัทจะไม่มีข้อเสนออะไรเพิ่มเติมกับ รฟม.แล้ว แต่จะมีการเจรจาต่อรองกันต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะเตรียมเงินลงทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม วงเงิน 1.1-1.2 แสนล้านบาท ซึ่งการจัดหาแหล่งเงินจะมาจากเงินกู้สถาบันการเงิน และหุ้นกู้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะเงินลงทุนด้านโยธารัฐจะจ่ายคืน ส่วนการลงทุนระบบและตัวรถไฟฟ้า จะเป็นลักษณะทยอยจ่ายใน 3 ปี ซึ่งบริษัทจะจัดหาขบวนรถตามมาตรฐานยุโรป หรือ มาตรฐานญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้เงินยูโรและเงินเยนอ่อนค่าก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน คาดว่าจะมี EBITDA ปีละ 7-8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าหากมีการเพิ่มวงเงินกู้ในการลงทุนโครงการสายสีส้ม คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จะไม่เกิน 2 เท่า จากปัจจุบัน D/E อยู่ที่ 1.66 เท่า ขณะที่เงินกู้ของบริษัทมีกำหนด D/E ไม่เกิน 2.5 เท่า

ในส่วนงานโยธา รถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่เป็นงานอุโมงค์ตลอดเส้น ซึ่ง CK เป็นผู้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในข้อเสนอ ส่วน CK จะให้งานรับเหมาช่วงแก่รายใดก็ต้องขออนุมัติจาก รฟม.ก่อน

นายสมบัติยังกล่าวว่า ส่วนโครงการอื่นที่จะเพิ่มเข้ามา ได้แก่ โครงการทางด่วน2 ชั้น หรือ Double Deck ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำรายงานสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ โดยในเชิงวิศวกรรมต้องการขยายพื้นที่ทางด่วนแต่รัฐไม่สามารถเวนคืนที่ดินได้เพิ่ม ก็จึงต้องทำทางด่วนอีกชั้น ซึ่งมีเพียง BEM ทำได้เพราะเป็นผู้รับสัมปทาน โดยคาดว่าในปีหน้าน่าจะเห็นความคืบหน้า และรัฐเปิดการเจรจากับ BEM

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ขณะนี้งานโยธากำลังดำเนินการอยู่ ส่วนการเดินรถ คาดว่า รฟม.น่าจะเจรจากับ BEM ซึ่งเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง บางใหญ่-บางซื่อ อยู่แล้วเพื่อให้การเดินทางไร้รอบต่อ คาดว่าจะเริ่มเจรจาในปีหน้าได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ