นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดเผยว่า PEA ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU ) การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และด้านการจัดหาและจำหน่าย Energy Attributed Certificates (EACs) หรือ Carbon Credits กับ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER )
ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการศึกษาและพัฒนารูปแบบการดำเนินการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงผ่านการขอใช้บริการโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า และพัฒนารูปแบบการซื้อขาย แลกเปลี่ยน Renewable Energy Certificates (RECs) หรือ Energy Attributed Certificates (EACs) รูปแบบอื่นๆ หรือ Carbon Credits รวมถึง รูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และ เป็นส่วนสำคัญในการการส่งเสริมการซื้อขายพลังงานสะอาดในประเทศไทย
ทั้งนี้ นอกจากประโยชน์ด้านทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้วนั้น PEA ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เช่น การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในแง่ของการส่งออก และเป็นการสร้างแรงดึงดูดให้กลุ่มทุนที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาดหันมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนับได้ว่าความร่วมมือนี้เป็นกลไกเริ่มต้นที่จะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านนายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER กล่าวว่า บริษัทและ PEA จะร่วมกันศึกษาและพัฒนารูปแบบดังกล่าว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง พัฒนารูปแบบการซื้อขาย แลกเปลี่ยน Renewable Energy Certificates (RECs) หรือ Energy Attributed Certificates (EACs) รูปแบบอื่นๆ หรือ Carbon Credits ฯลฯ โดยมีกรอบเวลาในการดำเนินการ 2 ปี
"การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การขยายงานรวมถึงการรับงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างพันธกิจสู่ความเป็นสังคม Carbon Neutrality ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการในการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต (New S-Curve) โดย SUPER ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์อีก 20-30 เมกะวัตต์" นายจอมทรัพย์ กล่าว