TU ปรับตัวขึ้น 4.79% หรือเพิ่มขึ้น 0.80 บาท มาที่ 17.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 503.09 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.28 น. จากราคาเปิด 17.40 บาท ราคาสูงสุด 17.60 บาท ราคาต่ำสุด 17.20 บาท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ปรับตัวขึ้นมา คาดตอบรับข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบไฟลิ่งของบมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ซึ่งประกอบธุรกิจ Pet Food แล้วเมื่อวานนี้
สำหรับ ITC เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ และเป็นผู้นำธุรกิจ OEM ในการผลิตอาหารแมวและสุนัขของประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 2 ในเอเชีย และเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก
ทั้งนี้มองธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่มีอนาคตอย่างมาก คาดจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของ TU ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
ขณะที่ธุรกิจหลักของ TU ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยคาดผลงานไตรมาส 3/65 น่าจะได้อานิสงส์การส่งออกและค่าเงินบาทอ่อนค่าเข้ามาหนุน ส่วนราคาหุ้นในปัจจุบันมองไม่แพงมากและยังมีช่องว่างให้เล่น แนะ "เก็งกำไร" ให้ราคาเป้าหมาย 18.00 บาท หากราคาหุ้นสามารถยืนเหนือ 17.70 บาทได้จะเป็นการเปิดช่องทางให้รีบาวด์ได้อีกครั้ง
ด้าน บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ แนะ "เก็งกำไร" หุ้น TU ให้ราคาเป้าหมาย 22.50 บาท ปัจจัยหนุนจากกำไรที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง และการนำ ITC เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
กำไรของ TU คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง หนุนโดยอัตรากำไรขั้นต้น (GM) ที่ดีขึ้นเป็น 18-18.5% (เพิ่มจาก 17.5% ใน H1/65) จาก GM ที่แข็งแกร่งของกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้ง GM ที่ดีขึ้นของกลุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารทะเล ซึ่งราคาทูน่าที่ปรับตัวขึ้นใน Q3/65 เป็นไปตามฤดูกาล แต่คาดจะลดลงใน Q4/65 และหากคงอยู่ไม่เกิน 1,800 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือใกล้เคียงระดับปัจจุบัน จะเป็นจุดที่ยังจัดการได้และเจรจาปรับราคากับลูดค้าได้ อีกทั้ง ค่าระหว่างเรือ (ขนส่ง) ก็แนวโน้มปรับตัวลดลงด้วย
ส่วน Red lobster (RL) ผู้บริหารประเมินว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้นและ Break-even ภายใน 12 เดือนข้างหน้า หนุนโดยการปรับราคาขายขึ้นในครึ่งปีหลังและการปรับโครงสร้างองค์กร อย่างไรก็ตาม เรายังคงคาด แบบอนุรักษ์นิยมว่ามีส่วนแบ่งขาดทุนราว 305 ล้านบาทในปี 66 (ลดลงจาก 1.05 พันล้านบาทในปี 65)