นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย ที่จัดขึ้นโดย SETA 2022 และ Solar + Storage Asia 2022 ว่า แผนพลังงานฉบับใหม่น่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปีเพื่อให้สามารถประกาศใช้ในปีหน้า โดยระหว่างนี้จะต้องผ่านการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน
สำหรับความแตกต่างของแผนพลังงานฉบับใหม่ที่ต่างจากฉบับเดิม คือ ฉบับเดิมภาครัฐจะทำหน้าที่จัดหาพลังงานให้ประชาชน แต่แผนฉบับใหม่ ประชาชนจะสามารถเป็นผู้ขายพลังงานได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาจากเทคโนโลยีใหม่ นวัตกรรมใหม่ จากพลังงานทดแทนที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและขายไฟฟ้าได้ ในอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะไม่สำคัญอีกต่อไป โรงไฟฟ้าขนาดเล็กจะมีมากขึ้นจะกระจายออกไป
อย่างไรก็ดี แผนพลังงานฉบับใหม่นี้จะมีเรื่องของพลังงานทดแทน ซึ่งก็ต้องศึกษาผลกระทบการใช้ของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หากในอนาคตมีการใช้แพร่หลายขึ้น ก็ต้องหาทางแก้ป้ญหาการชาร์จ EV ตอนกลางคืน เพราะพฤติกรรมผู้ใช้ EV จะชาร์จในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ช่วงกลางคืนอาจไม่เพียงพอ
ด้านนายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานบีบคั้นให้ต้องหันไปเร่งใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ภาพรวมการใช้พลังงานของประเทศ สองส่วนหลักที่ใช้มากที่สุด คือภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง รองลงมาคือ ภาคธุรกิจและภาคที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันพลังงานหลักที่ใช้คือพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งปีที่ผ่านมาสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนคิดเป็น 14% ของทั้งหมด ซึ่งลดลงจากก่อนการระบาดของโควิด 19 ที่อยู่ประมาณใช้ 17-18% ดังนั้น แผนการใช้พลังงานทดแทน จะต้องควบคู่ไปกับแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่กินพลังงานถึง 30-40% ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากห่วงโซ่อุปทานของคู่ค้า ส่วนภาคขนส่งสามารถทำระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การนำ EV มาใช้ในรถบรรทุก เป็นต้น
ขณะที่นางสาวจิตตมา มัณฑะจิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แผนดูแลการใช้พลังงานธรรมชาติถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในแผนพลังงานชาติ แม้ว่าปัจจุบันแหล่งก๊าซมีแนวโน้มลดลง แต่ประเทศไทยมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ส่วนแผนฉบับใหม่มั่นใจว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะผลิตก๊าซและบริหารทรัพยากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กำกับดูแลให้ภาคเอกชนผลิตได้ตามสัญญา ล่าสุดได้ทำการเปิดประมูลแปลงใหม่ 3 แปลง ประมาณการเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการ
นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า แผนพลังงานชาติมีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้ราคาเป็นไปอย่างเหมาะสม ทิศทางการกำกับพลังงาน เป็นไปตามกรอบระดับนานาชาติคือ COP 26 ส่วนแผน 5 ปีจะส่งเสริมกิจการพลังงานให้มีการแข่งขันมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดพลังงานสีเขียว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงทุกภาคส่วน เกิดการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน ดูแลให้การจัดหาพลังงานมีเพียงพอ
แม้ว่าปัจจุบันแหล่งที่มาของพลังงานจะมีความซับซ้อนมาขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สม่ำเสมอ แต่ก็มีแนวทางในการแก้ไข เช่น การนำแบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาใช้ก็จะช่วยให้ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนได้
อีกทั้งจะเน้นการจูงใจที่จะทำให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอน ต้องทำให้พลังงานสะอาดมีมูลค่า ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะทำให้เกิดโมเดลการขายไฟฟ้ามากขึ้นของครัวเรือนมากขึ้น นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจที่มีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาทดลองขายไฟฟ้าผ่านกริดไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทำสัญญาไว้ได้ โดยภาครัฐต้องลดระเบียบหรือเพิ่มกติกาบางอย่างเพื่อให้เหมาะสม
นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรม ได้จัดทำแผนพลังงานชาติในส่วนของตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานจำนวนมาก ดังนั้นการปรับแผนการใช้พลังงานในภาคนี้จึงสำคัญมาก เพราะปัจจุบันบริษัทต่างชาติหลายแห่งมีนโยบายว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะต้องมีกระบวนการผลิตสีเขียว ดังนั้นหากประเทศไทยไม่สามารถทำการใช้พลังงานไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้บริษัทระดับโลกหลายแห่งต้องย้ายฐานการผลิต ดังนั้น แผนพลังงานชาติที่จะออกมาใหม่จึงเป็นแผนที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะดูคาร์บอนฟุตปรินต์ ประกอบการตัดสินใจซื้อด้วย