นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากบริษัทรอส่งมอบน้ำตาลอีก 80,000 ตันที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่ต้องจับตามองเพิ่มเติมในเรื่องราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากการที่บราซิลลดการผลิตเอธานอล และหันมาผลิตน้ำตาลมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดการขาดแคลนน้ำตาลในช่วงไตรมาสที่ 4 หากอินเดียระงับ หรือชะลอการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้น
"คาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายดิบใน 3-6 เดือนต่อจากนี้จะอยู่ในช่วงราคา 18.00-19.50 เซนต์/ปอนด์ อยู่ในทิศทางบวก เนื่องด้วยปัจจัยที่มาสนับสนุนราคาตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจส่งออกน้ำตาลของไทยในปี 65 โดยผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/66 ของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6-2.7 ล้านตัน สูงกว่าฤดูการผลิตที่แล้วประมาณ 10-14% ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ยังคงส่งผลดีต่อรายได้จากการส่งออกน้ำตาล และภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัท" นายอนันต์ กล่าว
ศักยภาพการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ BRR ในปี 65 บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมากกว่าแผนเดิมที่วางไว้ที่ 50% เหตุจากทุกธุรกิจในเครือเติบโต อีกทั้งธุรกิจหลักมีแนวโน้มขาขึ้นจากความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกขยายตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้นหนุนรายได้เติบโตแข็งแกร่ง
และบริษัทมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยซึ่งมีการเติบโตที่ดี ภายใต้การบริหารของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BRR ถือหุ้นอยู่ 99.99% ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยเราจะขยายตลาดไปยังภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน SEW มีกำลังการผลิตประมาณ 3,600 ตันต่อปี สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์จากโฟมและพลาสติกได้ในอัตราส่วนที่เท่ากัน คือ 3,600 ตันต่อปี ซึ่งรวมในหลายประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น กล่องโฟมใส่อาหาร จาน ชาม โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล ปัจจุบันมีการคุยกับพันธมิตรกันอย่างต่อเนื่องทั้งในสปป.ลาว และในไทย รวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ในด้านความร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่ม JMART เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดธุรกิจให้กับ BRR ได้อย่างครบวงจร ทั้งด้านการให้บริการทางการเงิน ที่จะให้บริการในรูปแบบของการจัดหาสินเชื่อสนับสนุนการปลูกอ้อยให้แก่เกษตรชาวไร่อ้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจให้แก่กลุ่มบริษัทซึ่งจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง
ในด้านการค้าปลีก BRR เล็งเห็นถึงช่องทางการกระจายสินค้าใหม่ไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านค้าปลีกอย่าง SINGER เชื่อว่าจะยิ่งส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับ BRR ยิ่งขึ้น และในด้านเทคโนโลยีที่ทาง JMART จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระบบเทคโนโลยี Smart Farming ให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงโอกาสในการขยายธุรกิจร่วมกันในอนาคต โดยยึดการบริหารงานบนหลัก Sustainability มุ่งสู่การเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์ธุรกิจโลก