นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดแถลงข่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.65) เวลาประมาณ 10 น.เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเตรียมเข้าพบ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อตรวจสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ที่เมื่อ 2 วันก่อนมีการเปิดเผยถึงหนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการรวมธุรกิจระหว่างบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)
โดยระบุว่า สำนักงาน กสทช.ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยตีความกฎหมายให้อำนาจการควบรวมของกสทช.ว่า การรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง TRUE และ DTAC ต้องยึดตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 เพราะกฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้ว ดังนั้นกสทช.มีอำนาจเพียงรับทราบและกำหนดมาตรการเยียวยา
ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด และเข้าใจว่าการควบรวมกิจการดังกล่าว กสทช.ไม่ได้มีอำนาจ รวมถึงการเผยแพร่ข้อเท็จจริง 5 ข้อเกี่ยวกับกาควบรวมกิจการ กสทช.ได้ถอนออกไปด้วย
และกสทช.จะต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC ว่าจะมีประโยชน์หรือได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะเชื่อว่าจะกระทบกับราคาและค่าบริการที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ่นหลังการควบรวมกิจการ และ 3 ปีที่ผ่านมาการกำหนดมาตรการต่างๆก็อ่อนยวบซึ่งไม่มีความหมายและไม่มีประโยชน์การคุ้มครอง
นอกจากนี้ กสทช.ต้องจัดการกรณีที่สำนักงาน กสทช.จ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีส่วนได้เสียกับบริษัทที่จะควบรวม คือบล.ฟินนัซ่า มีผู้ถือหุ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของ TRUE เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน
นางสาวสารี กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคคัดค้านการควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC และต้องการให้ กสทช.รักษาผลประโยชน์ และคุ้มครองผู้บริโภค
"ขอให้กสทช.และสำนักงาน กสทช.ดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะเห็นชัดเจนว่าเกิดผลกระทบจากการควบรวมกิจการ เราคาดหวังประธานกสทช.ที่เป็นตัวแทนด้านการคุ้มครองบริโภคว่าจะคุ้มครองผุ้บริโภคได้เป็นอย่างดี"
ทั้งนี้ หาก กสทช.ไม่ใช้อำนาจตัวเอง ไม่พิจารณาดีลควบรวมครั้งนี้ กสทช.ก็ควรจะถูกฟ้องมาตรา 157 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยที่ผ่านมา ศาลปกครอง, อนุกรรมการกฎหมาย และคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยืนในทิศทางเดียวกันว่า กสทช.มีอำนาจควบรวมกิจการ หากกสทช.ไม่ดำเนินการ สภาองค์กรจะดำเนินการฟ้องตามม.157
ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สำนักงาน กสทช. และกรรมการ กสทช.ทำ กำลังลดทอนอำนาจที่ตัวเองขอเรียกร้องให้กสทช.ตั้งสติ ทำหน้าที่ตัวเอง สุดท้ายจะให้ควบรวมได้ขึ้นกับดุลยพินิจ ขอให้กสทช.ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ตัวเอง ก่อนที่จะเลวร้ายไปกว่านี้
"กรรมการชุดนี้เพิ่งเข้าทำหน้าที่ ยังไม่ถึง 6 เดือน คนที่เข้าทำงานใหม่จะได้แสดงผลงาน ชุดที่แล้วไม่กล้าตัดสินใจ ใช้วิธีพิเศษ แต่ชุดนี้ ก็ไม่กล้าใช้อำนวจ ในการควบรวมหรือไม่ เราจะตรวจสอบการใช้อำนาจหรือไม่ใช้อำนาจของกสทช. และคัดค้านไม่ให้เกิดการควบรวม"
นางสาวจุฑา สังขชาติ สมาคมผู้บริโภคสงขลาตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า จากที่มีการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ 3-4 รายก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ หากมีการควบรวมกิจการ ก็ไม่มั่นใจว่าคุณภาพการให้บริการจะดีหรือไม่ ฉะนั้น เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ 9 จังหวัดจะยื่นจดหมาย จะไปยื่นกสทช.เขต และยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึง ส.ส ว่า ตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติมากน้อยแค่ไหน หลังจากนี้ก็จะเกาะติดสถานการณ์ เพราะหากมีการควบรวมผลกระทบคงเกิดขึ้นอย่างมาก
นางสาวพวงทอง ว่องไว มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันคุณภาพการบริการโทรคมนาคมยังมีปัญหาในต่างจังหวัด แต่กสทช.ผู้มีอำนาจกลับละเลย โดยตัวแทนผู้บริโภคทางภาคเหนือทยอยยื่นหนังสือต่อ กสทช.เขต และ จัดเวทีสาธารณะ เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC รวมถึงอำนาจของกสทช.มีอำนาจการจัดการอย่างไร
"เรายืนยัน ผู้บริโภค 80% คัดค้านการควบรวม ทุกคนใช้อินเตอร์เน็ตในการใช้ชีวิตประจำวัน และหากไม่มีทางเลือกผู้บริโภค ขณะที่คุณภาพการบริการไม่ได้ดี เราก็จะลุกขึ้นปกป้องสิทธิ"