AOT บวก 1.37% หรือเพิ่มขึ้น 1.00 บาท มาที่ 74.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 976.32 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.04 น. และขึ้นไปสูงสุด 74.25 บาท ราคาต่ำสุด 73.50 บาทซึ่งเป็นราคาเปิด
AAV ดีดตัวขึ้น 2.78% หรือเพิ่มขึ้น 0.08 บาท มาที่ 2.98 บาท มูลค่าซื้อขาย 119.29 ล้านบาท ราคาสูงสุด 3.04 บาท จากราคาเปิด 2.98 บาท
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากที่ญี่ปุ่นประกาศรับฟรีวีซ่าท่องเที่ยวรายบุคคล (ไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์) ตั้งแต่ 11 ต.ค. นี้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 65 เจแปนไทมส์ รายงานว่า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวระหว่างเดินทางไปนครนิวยอร์กเพื่อร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติว่า ญี่ปุ่นจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวฟรีวีซ่า ให้เข้าไปเที่ยวได้เองไม่ต้องผ่านบริษัททัวร์ และยกเลิกการจำกัดจำนวน 50,000 คนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม เป็นต้นไป
ดาโอมองเป็นบวกจากการที่ญี่ปุ่นประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ และหนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และปริมาณการบริโภคในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเราประเมินว่าหุ้นที่จะ outperform จากข่าวดังกล่าวมากสุด ได้แก่ AOT, AAV, BAFS และ GFPT
บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะช่วยให้จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวมาก ทั้งนี้ในช่วงก่อนที่มีการระบาดโควิด-19 AOT จะมีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเที่ยวบินจากญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากจีน, อินเดีย และเกาหลีใต้ และคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากเที่ยวบินญี่ปุ่นราว 5% จากรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) ดังนั้นจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้เรายังคงประมาณการผลการดำเนินงานปกติงวดปี 65 ขาดทุนที่ -1.0 หมื่นล้านบาท (ดีขึ้นจากงวดปี 64 ที่ขาดทุน -1.5 หมื่นล้านบาท)
โดยแนวโน้มไตรมาส 4 งวดปี 65 จะขาดทุนลดลงต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายเปิดประเทศและการกระตุ้นการท่องเที่ยว และจะเริ่มพลิกกลับมีกำไรได้ในงวดปี 66 ที่ +6.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ เรายังประเมินจำนวนผู้โดยสารในงวดปี 65 ที่ 46 ล้านคน (+130% YoY), งวดปี 66 ที่ 90 ล้านคน (+96% YoY) และ งวดปี 67 ที่ 135 ล้านคน (+41% YoY) กลับไปใกล้เคียง งวดปี 64 ช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเรายังคงแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย งวดปี 66 ที่ 82.00 บาท ยังอิง DCF (WACC = 7%, terminal growth = 3.5%)
บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) จะได้ประโยชน์จากการเปิดเที่ยวบินเส้นทางใหม่ โดยสายการบินไทยแอร์เอเชียจะเริ่มเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ไปเมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงไตรมาส 3/65 ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่เปิดสายการบินที่มีเที่ยวบินไปญี่ปุ่น ซึ่งเราคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากเป็นที่นิยมของคนไทยที่ต้องการไปท่องเที่ยว
ทั้งนี้เรายังประเมินผลการดำเนินงานปกติปี 65 จะขาดทุนที่ -7.0 พันล้านบาท โดยงวด 1H65 มีผลขาดทุน -4.5 พันล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานปกติไตรมาส 3/65 จะขาดทุนลดลงเป็น -1.5-1.8 ล้านบาท (ไตรมาส 2/65 ขาดทุน -2.3 พันล้านบาท) จากจำนวนผู้โดยสารที่ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเรายังประเมินจำนวนผู้โดยสารปี 65 ที่ 9 ล้านคน +207% YoY (ผู้โดยสาร 1H65 อยู่ที่ 3.1 ล้านคน) ส่วนปี 66 ยังประเมินจะเริ่มกลับมามีกำไรได้ จากจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มเป็น 16 ล้านคน
ยังคงแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 3.30 บาท อิง 2023E PBV ที่ 3.6 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มสายการบินในภูมิภาค
บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) จะได้อานิสงส์จากจำนวนเที่ยวบินและปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้น เราประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 4/65 มีโอกาส turnaround หลังจากที่ล่าสุดปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานอยู่ที่ราว 9 ล้านลิตร/วันแล้ว เทียบกับ breakeven ที่ 8.3 ล้านลิตร/วัน เราคงประมาณการปี 65 ขาดทุนปกติ -102 ล้านบาท เทียบกับปี 64 ที่ -785 ล้านบาท และปี 66 จะพลิกเป็นกำไรที่ 369 ล้านบาท คงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 35.00 บาท อิง DCF
บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) ได้อานิสงส์ปริมาณการส่งออกไก่ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็น destination หลักของการส่งออกไก่ของประเทศไทย คิดเป็น 48% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ GFPT มีรายได้จากการส่งออกไปญี่ปุ่นใน 64 ที่ 11% ของรายได้รวม โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นคิดเป็น 50% ของรายได้ export ของบริษัท ทั้งนี้เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 65 อยู่ที่ 1,696 ล้านบาท (+711%YoY) และปี 66 ที่ 1,787 ล้านบาท (+5%YoY) โดยเรายังคงคำแนะนำ "ซื้อ" GFPT และราคาเป้าหมายที่ 19.00 บาท อิง 2022E PER ที่ 14.00 เท่า (5-year average PER)