ก.ล.ต.ปรับร่นระยะเวลาอนุญาตลงทุนตปท.เพื่อเร่งใช้วงเงินจริงตามที่ยื่นขอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 31, 2008 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ก.ล.ต.ปรับเปลี่ยนเกณฑ์วิธีจัดสรรวงเงินสำหรับกองทุนรวมในการขออนุมัติเพื่อลงทุนต่างประเทศ โดยจะให้ยื่นขออนุมัติวงเิงิน
พร้อมหนังสือชี้ชวนหรือก่อนเสนอขาย 2-3 วัน โดยจะสามารถใช้วงเงินที่ได้รับอนุญาตภายใน 30 วันจากเดิมที่เคยได้รับอนุมัติพร้อมวงเงิน โดยให้เวลาดำเนินการภายใน 1 ปี คาดปีนี้กองทุนรวม FIF ยังเป็นที่นิยมอยู่
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อต้องการให้มีการจัดสรรวงเงิืนลงทุนต่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะปัจจุบันมีหลายกองทุนที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่มีการเสนอขายและจดทะเบียนกองทุน ทำให้เงินที่จะใช้ลงทุนต่างประเทศกระจุกตัว จึงได้มีการหารือกับทางสมาคมบลจ. ซึ่งทางสมาคมฯก็เห็นด้วย
นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าวงเงินลงทุนต่างประเทศอาจจะไม่เพียงพอ คาดว่ากองทุนส่วนบุคล หรือ การลงทุนโดยตรงผ่านบล.คาดว่าจะเติบโตหลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติวงเงินให้ลงทุนต่างประเทศเป็นการทั่้วไป จากเดิมที่มีอยู่ 50 ล้านเหรียญ สรอ.
"เราได้คุยกับทางสมาคมฯ แล้วว่าการที่กองทุนต่างๆ ได้ไปขออนุมัติไว้จำนวนมาก แต่ลงทุนจริงๆ ยังไม่เยอะ ถ้าอย่างนั้นก็ขอปรับเปลี่ยนเกณฑ์ให้บลจ.จองวงเงินสำหรับลงทุนต่างประเทศก่อน IPO 2-3 วัน ตรงนั้นก็ใช้เวลาในการอนุมัติไม่นาน และที่สำคัญก็เพื่อต้องการให้ใช้วงเงินกันจริง และเราเผื่ออนาคตว่าอาจจะขาดแคลนได้" นายประเวช กล่าว
ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ให้การจัดสรรวงเงินกรณีกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ขออนุมัติพร้อมกับยื่นหนังสือชี้ชวนและต้องเสนอขายและจดทะเบียนกองทุนภายใน 30 วัน ซึ่งมีผลตั้งแต่ 14 มี.ค. 51 และก.ล.ต.ได้ทำหนังสือเวียนระบุว่า กองทุน FIF ที่ได้รับการอนุมัติแต่ยังไม่เสนอขายก็จะมีผลย้อนหลัง
นายประเวช กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันวงเงินสำหรับที่จะไปลงทุนต่างประเทศเหลืออยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านกองทุน FIF
"ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศให้ผลตอบแทนดี แต่ในปีนี้เนื่องจากมีปัญหาซับไพร์มกองทุนตราสรหนี้ก็อาจจะลดความนิยม" นายประเวช ระบุ
สำหรับกองทุน FIF ที่จดทะเบียนกัีบก.ล.ต.ตั้งแต่ปี 49-51 มีมูลค่า 407.88 ล้านเหรียญ จำนวน 11 กองทุน, มูลค่า 9,447.79 ล้านเหรียญ จำนวน 124 กองทุน และม.ค.-14 มี.ค. มีมูลค่า 2,147.63 ล้านเหรียญ จำนวน 33 กองทุน ตามลำดับ
สำหรับพอร์ตบลจ.ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่มี แต่พอร์ตบล.ขณะนี้มี 3 รายที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สถานะล่าสุด ณ 24 มี.ค. 51 มีพอร์ตลงทุนมูลค่า 15.6 ล้านเหรียญ
"คิดว่าพอร์ตบล. และบลจ.คงจะค่อยๆโตในการเข้าไปลงทุนต่างประเทศ สำหรับกองทุนส่วนบุคคลคิดว่าจะเป็นตัวที่จะมีการขยายพอร์ตตามหลังกองทุนรวม" นายประเวชกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ