Pi ให้กรอบ SET สัปดาห์นี้ 1,600-1,640 รับกังวลศก.ถดถอย จับตากนง.-บาทอ่อนกดดัน Flow

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 26, 2022 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.พาย (Pi) ประเมินกรอบ SET INDEX ทั้งสัปดาห์ที่ 1,600 - 1,640 จุด หลังตลาดหุ้น Dow Jones คืนวันศุกร์ปรับตัวลง 1.62% หลัก ๆ นักลงทุนยังคงกับประเด็นเดิม ๆ อย่างเงินเฟ้อทรงตัวระดับสูง ดอกเบี้ยปรับขึ้นแรง กระทบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ BRT ที่ปรับลดลง 4.8% ตลาดกังวลกับอุปสงค์จะหายไปจากความกังวลเศรษฐกิจถดถอย Pi ประเมินกรอบ SET INDEX ทั้งสัปดาห์ที่ 1,600 1,640 จุด

สัปดาห์นี้ปัจจัยหลักเน้นไปที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 กันยายน ข้อมูลจาก Bloomberg คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1% โดยเป็นการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 17 ท่าน จำนวน 13 ท่านคาดว่าที่ประชุม กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% และอีก 4 ท่านคาดว่าที่ประชุมจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

ดังนั้นเท่ากับว่าปัจจุบันตลาด Price In ดอกเบี้ยนโยบายไทยที่เพียง 0.25% แต่หาก กนง. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ก็มีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับฐานลง ทั้งนี้การขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% มองว่ามิสามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้แต่อย่างใด เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯกับไทยที่ยังห่างกันค่อนข้างมาก แต่หากปรับขึ้น 0.50% มีความเป็นไปได้ที่จะแข็งค่าขึ้นมาบ้างแต่ก็เชื่อว่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นเท่านั้นตามส่วนต่างที่ยังห่าง

โดยสรุปประเมินว่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าซึ่งจะกดดัน Fund Flow ต่างชาติแต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จะเป็นบวกเชิงจิตวิทยากับกลุ่ม Bank ขนาดใหญ่ (BBL KBANK SCB) เป็นลบกับการเงิน (MTC SAWAD TISCO) รวมถึงกลุ่มส่งออก (ASIAN HANA KCE) ที่จะได้ประโยชน์จากบาทอ่อนค่า ขณะเดียวกันในวันจันทร์กระทรวงพาณิชย์จะมีการเปิดเผยการค้าระหว่างประเทศ Bloomberg คาดมูลค่าส่งออกจะขยายตัว 7.7%YoY นำเข้า 18%YoY แต่ดุลการค้าขาดดุลราว 3.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสะท้อนถึงเงินบาท ยังไหลออกมากกว่าไหลเข้ากดดันบาทอ่อนค่า

ส่วนต่างประเทศวันอังคารสหรัฐฯจะมีการรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB) Bloomberg คาดที่ 104 หากออกมาสูงกว่าคาดก็จะเพิ่มความกังวลเงินเฟ้อและกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก

ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนยังไม่แนะนำเพิ่มพอร์ตการลงทุนแม้ตลาดหุ้นจะเริ่มปรับฐานลงมาบ้างแล้วเนื่องจากระยะข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความเสี่ยง (1) กระแสเงินทุนต่างชาติขายสุทธิผลจากเงินบาทอ่อนค่า (2) เงินเฟ้อสูงกดดันดอกเบี้ยเร่งขึ้น (3) ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนหุ้นระยะสั้นแนะ กลุ่ม Bank (BBL KBANK SCB) ส่งออก (ASIAN TU) ท่องเที่ยว (AOT CENTEL ERW MINT SPA) ค้าปลีก (BJC CRC CPALL DOHOME GLOBAL) โรงพยาบาล (BCH CHG) สื่อสาร (ADVANC INTUCH)

TU (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 22.70 บาท) แนวโน้มในช่วง 2H22 คาดว่าจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่องหลังรับรู้ผลดีจากการปรับราคาใหม่รวมถึงต้นทุนการขนส่งเริ่มปรับตัวลดลง

SCB (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 139.00 บาท) คาดกลุ่มธนาคารไทยจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากขึ้นเพื่อชดเชยผลกระทบจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประเมินว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์จากการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เพราะปล่อยสินเชื่อ (สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบริโภค) ที่คิดดอกเบี้ยลอยตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยมากกว่าเมื่อมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ