KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrencies) โดยเฉพาะบิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นสินทรัพย์ที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิดเป็นต้นมา โดยคนส่วนหนึ่งลงทุนด้วยความเชื่อว่า คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินในโลกอนาคตที่สามารถมาทดแทนเงินของธนาคารกลางที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ผ่านเทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลาง โปร่งใส และเป็นเครื่องรักษามูลค่าของตัวเองได้ด้วยปริมาณอุปทานที่มีอยู่อย่างจำกัด
อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าบทบาทของคริปโทเคอร์เรนซี ในการเข้ามาทดแทนระบบเงินปัจจุบันที่ควบคุมโดยธนาคารกลางเป็นไปได้ยาก จากข้อจำกัด 3 ด้าน คือ
1. บิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติของเงิน โดยข้อมูลในปัจจุบันชี้ชัดว่า คริปโทเคอร์เรนซี ยังไม่สามารถทำหน้าที่ 3 ข้อหลักของเงินได้ คือ
- คริปโทเคอร์เรนซี ไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) โดยระยะเวลาในการทำธุรกรรมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะมีความขัดแย้งกันระหว่างความสามารถในการกระจายอำนาจของระบบ (Decentralization) และความปลอดภัยของระบบ (Security) ทำให้ความสามารถในการทำธุรกรรม (Scalability) ลดลง
- คริปโทเคอร์เรนซี ไม่สามารถเป็นมาตรฐานในการใช้วัดมูลค่า (Unit of Account) จากความผันผวนเทียบกับเงินสกุลอื่นสูง ทำให้ผู้ขายจำเป็นต้องปรับราคาถี่ขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจจากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค ปัจจุบันจึงมีกลุ่มคนที่ใช้คริปโตเคอเรนซี หรือบิตคอยน์มาเป็นฐานเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าและบริการน้อยมาก
- คริปโทเคอร์เรนซี ไม่สามารถเป็นเครื่องรักษามูลค่า (Store of Value) โดยแม้ปริมาณที่จำกัดสามารถรับประกันได้ระดับหนึ่งว่า คริปโทเคอร์เรนซีจะไม่ถูกด้อยค่าด้วยการเพิ่มอุปทาน แต่มูลค่าพื้นฐานยังขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ และประโยชน์ที่ได้จากการถือเงินสกุลนั้นๆ ด้วย ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผู้คนจะเชื่อมั่นในบิตคอยน์ได้ตลอดไป โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยที่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการชำระภาระภาษีได้ และยังถูกยอมรับทั่วโลกเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังเกิดกับผู้ที่ต้องชำระภาษีสหรัฐฯในปริมาณสูง
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินที่หายไป การเปลี่ยนระบบการเงินจากยุคปัจจุบันไปสู่คริปโทเคอร์เรนซี แม้เป็นความตั้งใจที่ดีและมีการใช้เทคโนโลยีที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเงิน แต่การให้เอกชนเป็นคนออกสกุลเงินและจำกัดปริมาณเงินให้คงที่เพื่อรักษามูลค่า เป็นระบบที่มีความไม่มั่นคงสูงและขาดกลไกในการรองรับความเสี่ยงหากเศรษฐกิจเจอกับปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้คาดคิด ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงหลายประการ คือ
- ปริมาณเงินที่ถูกกำหนดไว้อย่างจำกัด จะสร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) หากปริมาณเงินเพิ่มขึ้นไม่ทันการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ
- การกำหนดให้ปริมาณเงินมีปริมาณคงที่ ทำให้ไม่สามารถปรับปริมาณเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจได้ ทำให้เศรษฐกิจอาจมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น
- ระบบที่ไม่มีผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน จะไม่สามารถสร้างความมั่นใจในระบบการเงินในยามวิกฤตได้ เช่น หากเกิดวิกฤติแบบโควิด-19 การขาดบทบาทของนโยบายการเงิน อาจทำให้ปัญหาลุกลามไปสู่เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้
3. ทำไมการยอมรับของบิตคอยน์อาจเกิดขึ้นได้ยาก ในทางทฤษฎี หากทุกคนยอมรับให้บิตคอยน์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ย่อมเป็นไปได้ที่บิตคอยน์จะผันผวนลดลงและทำหน้าที่เป็นเครื่องรักษามูลค่าได้ ซึ่งอาจทำให้บิตคอยน์สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันไปสู่ดุลยภาพใหม่ที่มีบิตคอยน์เป็นสื่อกลาง ยังต้องเจอกับอุปสรรคอีกมาก คือ
- ต้นทุนธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อขนาดของระบบใหญ่ขึ้น หากความต้องการในการทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้นในระบบบิตคอยน์ จะทำให้ network มีความแออัดและค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะดึงดูดให้จำนวนนักขุดเข้ามาในระบบมากขึ้น แต่จะทำให้ความล่าช้าในระบบเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งจะทำให้อัตราการใช้บิตคอยน์ (adoption rate) ลดลง
- ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินใหม่ การเปลี่ยนไปใช้สกุลใหม่ยังมีต้นทุนที่สำคัญ คือ network effect ของสกุลเงินที่ถูกใช้อยู่เป็นประจำ หากสกุลเงินปัจจุบันไม่ได้เสียกำลังการซื้ออย่างรุนแรง จะทำให้แรงจูงใจในการเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินใหม่มีน้อย
- แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ลดลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และสภาพคล่องที่ถูกดูดออกมากขึ้นโดยเฉพาะนโยบาย QT ในสหรัฐ ฯ จะทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการครอบครองสินทรัพย์ที่ไม่ผลิตกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น และจะสร้างแรงกดดันที่มากขึ้นกับราคาของบิตคอยน์ และความผันผวนของบิตคอยน์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การยอมรับในการใช้บิตคอยน์ลดลงได้
- การแข่งขันในตลาดของสกุลเงินอาจไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การแข่งขันของสกุลเงินเอกชนอาจไม่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคา หรือเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่ เนื่องจากผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการสร้างสกุลเงินเพิ่มเติมเพื่อกำไรจากการสร้างเหรียญ
- รัฐบาลในหลายประเทศ ยังไม่ยอมรับให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย การไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ และความเสี่ยงในอนาคต ที่ภาครัฐต้องมีการกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซี จะทำให้ต้นทุนและอุปสรรคในการใช้งานคริปโทเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้น รวมถึงจะจำกัดความสามารถในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือชำระหนี้ได้
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีกับการลงทุนระยะยาว การคาดเดาทิศทางของราคาบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซียังคงทำได้ยาก โดยแม้ว่าเหรียญดิจิทัลเหล่านี้อาจถูกมองว่าไม่มีมูลค่าพื้นฐาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีมูลค่าเป็นศูนย์เสมอไป และความผันผวนในราคาของสินทรัพย์เหล่านี้ น่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตในช่วงที่ความไม่แน่นอนเรื่องอัตราเงินเฟ้อและทิศทางของนโยบายการเงินเพิ่มสูงขึ้นมาก และมีความเสี่ยงสูงที่ราคาจะปรับตัวลงได้
KKP Research ประเมินว่า ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยอมรับในบิตคอยน์หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ ให้เป็นสกุลเงินหลักในอนาคต อย่างไรก็ตาม บิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีอาจยังคงอยู่เป็นสินทรัพย์ทดแทนที่มีการซื้อขายต่อไปแม้ว่าจะไม่ใช่สกุลเงินก็ตาม และหากคริปโทเคอร์เรนซีสามารถทำหน้าที่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตัวเองได้ (เช่น ลดต้นทุนการทำธุรกรรม หรือสร้างโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ที่ระบบปัจจุบันทำไม่ได้) ก็อาจจะสามารถมีมูลค่าในตัวมันเองได้
นอกจากนี้ การมีอยู่ของคริปโทเคอร์เรนซี แม้ว่าจะเป็นในรูปของสินทรัพย์ทดแทน จะช่วยเตือนให้ภาครัฐและธนาคารกลางคำนึงถึงคุณลักษณะที่ดีของเงินสาธารณะ (public money) และนำไปสู่การทำนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น การไม่ทำนโยบายประชานิยมหรือพิมพ์เงินมากเกินไป จนทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรง (hyperinflation) และสภาวะทางสังคมล่มสลาย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในประวัติศาสตร์