สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผสานความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ (UN) และ Principles for Responsible Investment (PRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ "Responsible Investment in Practice: Implementing ESG Incorporation in Listed Equity and Fixed Income" เพื่อให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ และการผนวกปัจจัยด้าน ESG เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจและกระบวนการทำงาน (ESG integration) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
งานสัมมนาที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. UN และ PRI เพื่อสนับสนุนและช่วยให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของ UN ผ่านการทำงานร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม (ESG) และการลงทุนที่สอดคล้องตามแนวทางของ SDGs โดยมีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจาก PRI และผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นผู้ร่วมลงนามในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (PRI signatories) มาแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนที่รับผิดชอบ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 300 คน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายของ UN SDGs โดยสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องในด้าน ESG integration เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสามารถนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบที่พัฒนาขึ้นโดย PRI ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามบริบทของตน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ในการนี้ ก.ล.ต. ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการร่วมดำเนินการกับทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนที่ยั่งยืนตามเป้าหมายของ UN SDGs ต่อไป
Ms. Gita Sabharwal, United Nations Resident Coordinator in Thailand กล่าวว่า ตลาดทุนมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกมีความกังวลต่อความยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบบนพื้นฐานการให้ความสำคัญต่อประเด็นด้าน ESG จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ทั้งนี้ หลักการลงทุนที่รับผิดชอบที่จัดทำโดย PRI ควรได้รับการสนับสนุนในประเทศไทยและการลงทุนตามหลักการดังกล่าวควรมาจากผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ อนึ่ง นอกเหนือจากการลงทุนที่สอดคล้องกับหลัก BCG และกรอบนโยบายอื่น ๆ แล้ว ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นแบบอย่างดีในตลาดทุนสามารถสร้างแรงผลักดันในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการรวมความหลากหลายของกลุ่มคน ความเสมอภาค และความโปร่งใส ซึ่งขั้นตอนสำคัญในการมุ่งสู่ทิศทางดังกล่าวนี้ ได้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วในงาน Sustainable Thailand Forum โดยมีการรวมพลังผู้ลงทุนสถาบันและธนาคารรวม 43 หน่วยงาน ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมลงนามประกาศเจตจำนงในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ บนหลักการลงทุนแห่งความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ
Mr. James Robertson, Head of Asia (ex-China & Japan), PRI กล่าวว่า PRI มีความยินดีอย่างยิ่งที่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบที่พัฒนาโดย PRI ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้มีการนำแนวทางการลงทุนที่ผนวกปัจจัยด้านความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ PRI รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับ ก.ล.ต. และ องค์การสหประชาชาติ (UN) ในการแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับหลักการลงทุนที่รับผิดชอบให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย โดยงานสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากงานสัมมนาออนไลน์ที่จัดร่วมกับ ก.ล.ต. และ UN เมื่อปี 2564 โดย PRI หวังว่าจะได้สานต่อความร่วมมืออันดีนี้ต่อไปในอนาคต
อนึ่ง PRI เป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้คำแนะนำเรื่องการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น (ownership practice) โดยสามารถแบ่งผู้ร่วมลงนาม (signatories) ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) Asset Owner (2) Investment Manager และ (3) Professional Service Provider ซึ่งผู้ที่ร่วมลงนามตกลงที่จะให้คำมั่นสัญญาในการปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ทั้ง 6 ประการ ดังนี้
หลักการที่ 1: พึงนำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุน
หลักการที่ 2: พึงใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นอย่างจริงจัง และนำประเด็นด้าน ESG เป็นส่วนหนึ่งของการ กำหนดนโยบายและหลักปฏิบัติการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น
หลักการที่ 3: พึงสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ที่เราลงทุน เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG
หลักการที่ 4: พึงส่งเสริมประเด็นด้าน ESG ให้เกิดการยอมรับและการปฎิบัติในอุตสาหกรรมการลงทุน
หลักการที่ 5: พึงให้ความร่วมมือในการนำหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ปฏิบัติ
หลักการที่ 6: พึงรายงานข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าในการดำเนินงานตามหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบ
งานอบรมครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ "Getting Started in Responsible Investment: An Introduction to Key Concepts, Practices and the PRI for Thai Market Participants" ที่ ก.ล.ต. จัดร่วมกับ UN และ PRI เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64