น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มั่นใจรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติปีนี้เติบโต 20% ทำ All Time High (ไม่รวมดีลขายที่ดินให้กับ BYD) เป็นไปตามการเติบโตของ 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจโลจิสติกส์ ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าส่งมอบพื้นที่รวม 180,000 ตารางเมตร แต่ในครึ่งปีแรกมีการส่งมอบพื้นที่รวม 194,300 ตารางเมตร ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายไปแล้ว แบ่งเป็น โครงการคลังสินค้าใหม่และสัญญาเช่าพื้นที่ใหม่จำนวน 98,200 ตารางเมตร และสัญญาเช่าระยะสั้นอีก 96,100 ตารางเมตร เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบที่มีต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดความต้องการเช่าคลังสินค้าระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจจัดส่งสินค้าแบบด่วน รวมไปถึงตัวแทนให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL)
ขณะที่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 65 จะมีการส่งมอบโครงการคลังสินค้าใหม่ๆ รวมพื้นที่กว่า 51,000 ตารางเมตร รวมถึงจะมีการเปิดตัวโครงการคลังสินค้าดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ใหม่อีก 2 โครงการ และพื้นที่ส่วนต่อขยายของโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 (WHA Mega Logistics Center Theparak KM. 21) รวมพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 420,000 ตารางเมตร
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ยังมีสำนักงานให้เช่าระดับเวิลด์คลาสพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและการออกแบบที่ยอดเยี่ยมถึง 6 แห่ง ในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร ซึ่งรวมถึงดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทฯ ในย่านบางนา และ WHA KW S25 โครงการสำนักงานล่าสุด คาดว่าจะแล้วเสร็จในราวกลางปี 66
อีกทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอ ยังคงมองหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ เพื่อส่งมอบบริการที่มีมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า โดยขอบเขตที่อยู่ระหว่างการศึกษา ได้แก่ คลังสินค้าอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้ง และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บริษัทยังตั้งเป้าที่จะขายสินทรัพย์ขนาด 208,000 ตารางเมตร มูลค่ารวม 5,400 ล้านบาท แบ่งเป็น Bull-to-Suit warehouse / General Warehouse ขนาด 159,963 ตารางเมตร มูลค่า 4,050 ล้านบาท จะขายเข้ากองทรัสต์ WHART 1 และสินทรัพย์ประเภท Ready-built Factory/Warahouse ขนาด 48,186 ตารางเมตร มูลค่า 1,350 ล้านบาท ขายเข้ากองทรัสต์ WHAIR 2 ภายในไตรมาส 4/65 โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรเข้ามาราว 3,300 ล้านบาท ในเดือนธ.ค.นี้
2. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 12 แห่ง โดย 11 แห่งอยู่ในประเทศไทย และ 1 แห่งอยู่ในเวียดนาม โดยในประเทศไทย มีแผนขยายนิคมฯ เพิ่มอีก 2 แห่ง และอีก 1 แห่งใน 3-4 ปีนี้ ขณะที่ในเวียดนาม ก็จะเพิ่มอีก 2 แห่ง เพื่อรองรับกระแสฐานทุน โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น
ทั้งนี้บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในปี 65 เป็น 1,650 ไร่ แบ่งเป็นในไทย 1,400 ไร่ และเวียดนาม 250 ไร่ จากเดิมวางเป้าหมายไว้ที่ 1,250 ไร่ หลังครึ่งปีแรกสามารถทำยอดขายที่ดินทั้งในประเทศไทยและเวียดนามได้ถึง 513 ไร่ และล่าสุด เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินขนาด 600 ไร่ กับบริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี โดยคาดว่าโรงงานผลิตรถไฟฟ้าแห่งใหม่นี้จะเริ่มดำเนินการในปี 67 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 150,000 คันต่อปี
นอกจากนี้บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าต่างชาติ จำนวน 30-50 ราย เพื่อขายที่ดินกว่า 3,000-4,000 ไร่ คาดว่าอาจจะเห็นการปิดดีลเพิ่มเติมได้ในเร็วๆ นี้
ณ สิ้นไตรมาส 2/65 WHA มียอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 600 ไร่ และปัจจุบันมียอดขายที่ดินในส่วนของ BYD เพิ่มเข้ามาอีก 600 ไร่ ทำให้ Backlog ในขณะนี้ยืนสูงกว่า 1,000 ไร่แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถทยอยโอนในปี 66 เป็นต้นไป และในส่วนของการโอนที่ดินของ BYD คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66
สำหรับในประเทศเวียดนาม บริษัทประสบความสำเร็จจากโครงการในจังหวัดเหงะอาน ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ โดยเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1-เหงะอาน เฟส 1 ขนาด 900 ไร่ ได้พัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้ปล่อยเช่าให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ การแปรรูปอาหาร พลังงานแสงอาทิตย์ วัสดุก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่ามากที่สุดในจังหวัดเหงะอาน
จากการคาดการณ์ความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น บริษัทฯ จึงเร่งก่อสร้างเฟส 2 ขนาด 2,215 ไร่ และกำลังวางแผนที่จะพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม ขนาด 5,625 ไร่ รวมส่วนต่อขยายในจังหวัดถั่งหัว ซึ่งอยู่ในระหว่างการขออนุมัติโครงการจังหวัดถั่งหัวเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเวียดนาม และมีทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ใกล้กับกรุงฮานอยและท่าเรือน้ำลึกแหล็กเฮวี่ยน
โดยโครงการ WHA Smart Technology Industrial Zone-Thanh Hoa ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองหลักของจังหวัด พร้อมที่จะรองรับความต้องการของนักลงทุนด้านเทคโนโลยีมูลค่าสูงและการขยายโครงการ Northern Technology Corridor ของเวียดนาม
ล่าสุด WHA ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจสำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 3 ของประเทศเวียดนาม ในจังหวัดกว๋างนาม บนพื้นที่ขนาด 2,500 ไร่ โดยโครงการ WHA Smart Eco Industrial Zone-Quang Nam ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ ใจกลางภาคกลาง ใกล้จังหวัดดานังและกว๋างหงาย ซึ่งในอนาคต โซนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะแห่งนี้ ตั้งเป้าที่จะรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคสะอาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม การแพทย์ หรือโลจิสติกส์
3. ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของบมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) โดยธุรกิจน้ำ สำหรับประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 65 WHAUP มีปริมาณการจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพสูงและการบำบัดน้ำเสียสูงขึ้น 10% เป็น 62.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำเพิ่มมูลค่า เพิ่มขึ้นกว่า 19% เป็น 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
WHAUP ยังได้สร้างโรงผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพสูงและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 กำลังการผลิตรวม 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์น้ำเพิ่มมูลค่านั้น WHAUP มีการพัฒนาโครงการน้ำเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพสูงสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กรายใหม่ (SPP) แล้วเสร็จด้วยกำลังการผลิตรวม 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีและยังมีการพัฒนาโรงงานผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดำเนินการใกล้เสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ WHAUP ยังได้เซ็นสัญญาซื้อขายน้ำกับลูกค้าที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์
สำหรับประเทศเวียดนาม WHAUP มีโครงการน้ำที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 3 โครงการ ผลการดำเนินงานมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของของปี 65 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 12.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีฐานลูกค้าและพื้นที่ครอบคลุมการให้บริการน้ำประปามากขึ้น
ด้านพลังงาน WHAUP ยังคงขยายพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในครึ่งแรกของปี 65 WHAUP มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) จำนวน 62 เมกะวัตต์ ในขณะที่อีก 64 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 ยังได้มีการลงนามโครงการพลังงานแสงอาทิตย์กับผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมใหม่อีก 15 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 34 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โครงการโซลาร์รูฟท็อปของบริษัท ปริ๊งซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโซล่าร์รูฟท็อปที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่มีกำลังการผลิต 19.4 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยรวมแล้วสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามทั้งหมดของโครงการโซลาร์รูฟท็อปคาดว่าจะสูงถึง 150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้
4. ธุรกิจดิจิทัล ภายในสิ้นปี 65 กลุ่มธุรกิจดิจิทัลจะวางไฟเบอร์ออพติคใต้ดิน (FTTx) และพร้อมให้บริการแล้วเสร็จทั้ง 11 นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทย และยังมีการให้บริการเช่าเสาโทรคมนาคมสำหรับติดตั้งอุปกรณ์สำหรับรับและก ระจายสัญญาณเครือข่าย 3G, 4G, และ 5G ภายในนิคมฯ ของดับบลิวเอชเอ โดยจะดำเนินการสร้างเสาโทรคมนาคมจำนวน 8 ต้นภายในปีนี้ ซึ่งลูกค้าที่จะเช่าเสาโทรคมนาคม ได้แก่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทย เช่น AWN, True และ Dtac นอกจากนี้ กลุ่มธุริกิจดิจิทัลได้มีการขายสินทรัพย์ประเภทธุรกิจศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) จำนวน 2 แห่ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 โดยสร้างกำไรได้ถึง 345 ล้านบาท ปัจจุบันดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังคงถือหุ้น 15% ใน Supernap ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ Tier IV
บริษัทฯ ยังตั้งเป้าหมายที่จะก้าวเป็นบริษัทเทคโนโลยี ในปี 67 จากการสร้างโรดแมพที่ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมนวัตกรรมในสถานที่ทำงาน การปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
โดยปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีการดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างรากฐานด้านดิจิทัลให้กับองค์กร รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลและทักษะด้านนวัตกรรมให้กับพนักงาน ของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ โดยมีแผนที่จะเปิดตัว META W เมตะเวิร์สอุตสาหกรรมรายแรก ที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของบริษัทในยุคดิจิทัล
น.ส.จรีพร กล่าวว่า บริษัทฯ วางงบการลงทุนระยะเวลา 5 ปี (65-69) มูลค่ารวม 50,000 บาท เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม รวมถึงโรดแมพการทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ซึ่งจะปูทางไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์