ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันเมกะเทรนด์อย่างการประหยัดพลังงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน จึงเป็นโอกาสให้ บมจ.ทเวนตี้ โฟร์ คอน แอนด์ ซัพพลาย (24CS) ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจัดจำหน่ายอุปกรณ์ประเภทปรับอากาศและระบายอากาศ แบรนด์ชั้นนำมาตรฐานสากลยี่ห้อ TROX และเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ปรับอากาศและระบายอากาศแบรนด์ชั้นนำมาตรฐานสากลหลายรายอาทิเช่น TRANE, AAF, KRUGER, HONEYWELL เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร และงานรับเหมาก่อสร้างเพื่อสามารถให้การบริการแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
24CS กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 3.40 บาท โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจวัสดุก่อสร้างในวันที่ 3 ต.ค. 65 นี้
*ตั้งเป้าผู้นำระบบ HVAC คว้าโอกาสตลาด Blue Ocean
นายยศวีย์ วัฒนธีระกิจจา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 24CS เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทมาจากไอเดียที่ว่า เรามองเห็นช่องว่างทางธุรกิจของอุปกรณ์ปรับอากาศภายในอาคาร เราจึงตัดสินใจเปิดบริษัทขึ้นครั้งแรกในปี 56 โดยเริ่มจากการทำเทรดดิ้ง (Trading) มีพาร์ทเนอร์หลักอย่าง TROX จากประเทศเยอรมนี หลังจากนั้นเราก็ขยายเพิ่มไปเรื่อย ๆ ทั้งแบรนด์ TRANE, AAF, KRUGER HONEYWELL
โดยฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการอาคารสูง ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงงาน หรือ โรงไฟฟ้า เป็นต้น
นายยศวีย์ กล่าวว่า ธุรกิจนี้ยังถือว่าเป็นตลาด Blue Ocean มีคู่แข่งจำนวนน้อยราย แต่ละรายจึงมีสินค้าและนวัตกรรมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งกลยุทธ์การแข่งขันของ 24CS คือการสรรหาสินค้าที่มีความหลากหลาย รองรับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม ตลอดจนการเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ชั้นนำระดับสากล ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความแข็งแกร่งของบริษัท
อีกทั้งบุคลากรของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ทีมงานวิศวกร และทีมงานฝ่ายขาย มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสินค้าระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
"ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังไม่มีหุ้นตัวไหนที่เป็นหุ้นเกี่ยวกับเรื่องของงานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ หรือ HVAC (HVAC - Heating, Ventilation, and Air - Conditioning System) โดยตรง อย่างตอนนี้เพื่อน ๆ ของเราในตลาดฯ จะเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับงานระบบครบวงจร หรือ M&E (Mechanical and Electrical) แต่ฝั่งเราพยายามจะมุ่งเน้นว่า เราเนี่ยคือผู้เชี่ยวชาญด้าน HVAC โดยตรงเลย และนี่คือจุดมุ่งหมายของบริษัทเรา" นายยศวีย์กล่าว
*ต่อยอดธุรกิจติดตั้งระบบวิศวกรรมอาคาร จับเทรนด์รักษาสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันบริษัท 24CS ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลากว่า 9 ปีแล้ว ซึ่งตอนที่ทำธุรกิจเทรดดิ้งมาได้ 4 ปี เริ่มมองเห็นโอกาสในอีกหนึ่งธุรกิจ นั่นก็คือธุรกิจการให้บริการงานรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร ซึ่งจะเน้นที่การติดตั้งงานระบบปรับอากาศเป็นหลัก
"ในธุรกิจเทรดดิ้ง เราขายสินค้า-วัสดุอุปกรณ์หลัก (Main Equipment) เข้าโครงการ ซึ่งต้องบอกว่าหนึ่งโครงการเนี่ย มี Main Equipment อยู่ประมาณ 80% อีกราว 10% จะเป็นส่วนของแรงงานที่ประกอบติดตั้ง เพราะฉะนั้นในเมื่อเราได้ Volume ไปถึง 80% แล้ว เราก็ควรจะขยายให้ครอบคุลมทั้งก้อนไปเลย เราจึงตัดสินใจแตกสายงานมา" นายยศวีย์ กล่าว
นายยศวีย์ กล่าวอีกว่า กลุ่มลูกค้าของเราก็ยังเป็นกลุ่มลูกค้าเดิม แต่เพิ่มเติมคือเราเข้าไปแนะนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศที่สามารถเข้ามาช่วยเรื่องการประหยัดพลังงาน เพราะต้องยอมรับว่าเทรนด์ในอนาคตคงหนีไม่พ้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม สะท้อนได้จากการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่อง Carbon Credit หรือ หลัก ESG (Environment Social Governance) มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราก็นำเทคโนโลยีของเรามาตอบโจทย์ให้กับลูกค้า
สำหรับโครงการสำคัญที่บริษัทเคยให้บริการรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร มีทั้งงานโครงการภาครัฐและภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น งานติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบไฟฟ้าและการสื่อสาร สถานีไฟฟ้าบางปะกง, งานติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าและการสื่อสาร MRT - Park&Ride Pink Line และ อาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดรถ ATTA ดอนเมือง เป็นต้น
ปัจจุบันบริษัทแบ่งสัดส่วนรายได้ทั้ง 2 ธุรกิจออกเป็น 1) ธุรกิจการให้บริการงานรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมประกอบอาคารราว 60% และ 2) ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ปรับอากาศและระบายอากาศราว 40% ซึ่งในอนาคตหากมีโอกาสรับงานมากขึ้น สัดส่วนของธุรกิจการให้บริการงานรับเหมาติดตั้งฯ อาจจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ทางบริษัทจะพยายามรักษาสัดส่วนรายได้ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ปรับอากาศฯ เอาไว้ให้สมดุลกันมากที่สุด
*งานระบบปรับอากาศหนุนมาร์จิ้นสูง รายได้เติบโตแม้เผชิญช่วงวิกฤต
นายยศวีย์ กล่าวว่า ในฝั่งของธุรกิจการให้บริการงานรับเหมาติดตั้งฯ ต้องยอมรับว่างานติดตั้งระบบปรับอากาศเป็นงานระบบที่มีมาร์จิ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับงานระบบอื่น ๆ เนื่องจากเป็นงานระบบที่มีลูกเล่นหลากหลาย ทั้งด้านเทคโนโลยี การประหยัดพลังงาน ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วย Save Cost เกิดผลประโยชน์ระยะยาวให้กับทางลูกค้าเองในอนาคต
แม้ว่าเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะค่อนข้างผันผวน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบบางอย่างมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ทางบริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ มีการล็อกราคาไว้บางส่วนแล้ว รวมถึงมีการพูดคุยกับลูกค้าถึงสถานการณ์ราคาวัตถุดิบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน นอกจากนี้มีการนำโปรแกรม Enterprise Resource Planning (ERP) มาช่วยในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และด้วยการบริหารจัดการดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการของบริษัทโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 63-64 โดยมีรายได้อยู่ที่ 402 ล้านบาท และ 642 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิในปี 63-64 อยู่ที่ 6 ล้านบาท และ 19 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการในปี 65 นี้ในงวด 6 เดือนแรก บริษัททำรายได้ไปแล้วที่ 406 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11 ล้านบาท ปัจจุบันมีจำนวนงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 1,168 ล้านบาท สามารถรับรู้ได้ภายในช่วง 1-2 ปี
"ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าโควิดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหายใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอากาศ เรากลับได้รับผลดีซะด้วยซ้ำ ในการที่ลูกค้าเกิดความต้องการเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายในอาคาร ส่วนในทุกวันนี้ แม้ทุกคนจะมองว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว แต่คำว่าชะลอตัวกับคำว่าสุขภาพมันต่างกัน เราอยู่ในธุรกิจของอากาศที่ทุกคนต้องหายใจเข้าไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันคือคำว่าสุขภาพแล้ว ดังนั้นผลงานในช่วงที่ผ่านมา มันเป็นตัวตอบโจทย์แล้วว่าเราแข็งแกร่งมากพอที่จะเติบโตในช่วงวิกฤตต่าง ๆ ได้ " นายยศวีย์กล่าว
*เข้าตลาดฯ เตรียมรับงานใหญ่ ตอกย้ำผู้นำระบบ HVAC
สำหรับแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินระดมทุนที่ได้ไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเพิ่มศักยภาพของบริษัท ให้สามารถรับงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างโอกาสในการเข้าประมูลงานโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่คาดว่าจะมีทยอยออกมาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหลังจากที่สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
"ต่อจากนี้เราก็คงยังอยู่ภายใต้ธุรกิจเดิมของเรา เพราะเรามองว่ามันเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และยังไม่เป็น Red Ocean มากนัก เราคงมีแผนศึกษาโครงการใหม่ ๆ เพื่อจะเข้าประมูลต่อไป ต้องบอกว่าในอดีตโอกาสชนะการประมูลงานของเราอยู่ที่ 50-50 ซึ่งหลังจากเข้าตลาดฯ เราก็จะเข้าไปประมูลงานโครงการที่สเกลใหญ่ขึ้นได้ รวมถึงความน่าเชื่อถือในบริษัทก็จะสูงขึ้น สร้างโอกาสในการเข้าประมูลงานเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นการที่เราเข้าตลาดฯ ครั้งนี้ ก็จะทำให้เรามีโอกาสเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง" นายยศวีย์กล่าว
https://youtu.be/QG3WBxkMXcw