นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 25 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 4/65 สรุปได้ดังนี้
สมมติฐานหลัก มีการปรับลดราคาน้ำมันดิบของปีนี้ จาก 102.36 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 98.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และทำให้ต้องลดคาดการณ์ การขยายตัวของ GDP ไทย ปี 65 จากเดิมที่ 3.18% ลงมาเหลือที่ 3.09%
ส่วนสมมติฐาน GDP ปี 66 นั้นยังมองเป็นบวกที่ 3.86%
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 65 ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผู้ตอบแบบสำรวจ 96% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 92% ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 65 และปี 66 มีผู้ตอบ 80% ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดทุนไทยในขณะนี้จนถึงสิ้นปี 65 ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก ผู้ตอบทั้งหมดเทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลลบ รองลงมาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (เฟด) และปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบเท่ากันที่ 92% ตามมาด้วยการลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก มีผู้ตอบ 84% ตามลำดับ
ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในไตรมาส 4/65 มีนักวิเคราะห์ถึง 56% ที่คาดว่าจะปรับขึ้น 0.25% ส่วนที่เหลือ 32% มองว่าปรับขึ้น 0.50% ทั้งนี้ มีเพียง 4% ที่มองว่าจะปรับขึ้นถึง 1% หรือมากกว่านั้น และมี 8% ที่มองว่าจะไม่มีการปรับในสิ้นปีนี้
ส่วนปี 66 นักวิเคราะห์ถึง 36% คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ส่วนที่เหลือนั้น 24% มองว่าจะปรับขึ้น 0.75% และ 16% มองว่าจะปรับขึ้น 1.00% ขณะที่ 12% มองว่าปรับขึ้น 0.25% ทั้งนี้มีเพียง 4% ที่มองว่าน่าจะตรึงดอกเบี้ย
ด้านคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 65 ของตลาดเฉลี่ยที่ 100.36 บาท เพิ่มขึ้นกว่าผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 94.47 บาทต่อหุ้น และครั้งนี้คาดการณ์ EPS Growth ของปี 65 อยู่ที่ 13.51%
สำหรับคาดการณ์จุดสูงสุดของ SET Index ช่วง ต.ค.-ธ.ค.65 เฉลี่ยที่ระดับ 1,709 จุด ส่วนจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,585 จุดและเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 65 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,685 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 39 จุดจากระดับคาดการณ์ไว้ครั้งก่อนที่ 1,646 จุด
นักวิเคราะห์แนะนำให้กระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น
- เงินสดและเงินฝากระยะสั้น 19.57%
- กองทุนตราสารหนี้ 18.91% - หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 26.30%
- หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 20.43%
- กองทุนอสังหาฯหรือ REIT 8.83% - ทองคำหรือกองทุนทองคำ 5.96%
การลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก ธนาคาร การท่องเที่ยว ขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจปิโตรเคมี พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
หุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำ โดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป มีดังนี้ (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)
1.ADVANC ได้ประโยชน์จากความต้องการใช้สื่อสารเพิ่มในช่วงเลือกตั้งหาเสียง ระยะกลางได้แรงหนุนจากการควบรวม 3BB, BJC
2.AOT มุมมองในระยะสั้น จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังไทยยกเลิกระบบ Thailand Pass ตั้งแต่ 1 ก.ค.65 หนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1.4 ล้านคน ในเดือน ส.ค. (45% เทียบกับช่วง Pre COVID-19) ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 4 ของงวดปี 64/65 ขาดทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ QoQ และคาดมีโอกาสกลับมาทำกำไรปกติได้ใน 1-2 ไตรมาสข้างหน้า
3.BBL มองเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่ได้เปรียบจากการที่ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ในปีนี้ที่ระดับ 0.25% มาอยู่ที่ 1%
4.KBANK ปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนี้การทำธุรกิจร่วมทุน JK AMC ทำให้ KBANK มี Balance Sheet ที่แข็งแกร่งมากขึ้น
ท้ายที่สุด นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่กล่าวถึงนโยบายที่เพิ่มกำลังซื้อแก่ประชาชน เพื่อกระตุ้นการบริโภค ได้แก่ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก ลดภาษีบุคคลธรรมดา ตามมาด้วย การช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ สนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วยสภาพคล่องรักษาการจ้างงาน SME รวมถึงสนับสนุนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และข้อแนะนำสุดท้ายเสนอเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม