น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับร่างหลักการการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 65-70) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อดำเนินการต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมายที่จะพัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถเข้าถึง แข่งขันได้ เชื่อมโยง และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 นั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะจัดทำแผนตามหลักการที่ ครม. มีมติรับร่างหลักการที่มีสาระสำคัญ คือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดทุนของต่างประเทศ การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย การส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินผ่านกลไกตลาดทุน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุน ตลาดทุนยั่งยืน และ การสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีในระยะยาวครอบคลุมถึงวัยเกษียณ ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (60-64) ภายใต้ 7 มาตรการสำคัญและมีผลสำเร็จดังนี้
1. การเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยได้มีการออกหลักเกณฑ์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือการระดมทุนของกิจการจากบุคคลจำนวนมากสำหรับตราสารหนี้และธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลผ่านออนไลน์ได้ และกำลังดำเนินการจัดทำกลไกคะแนนเครดิตที่สถาบันการเงินใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่ SMEs
2. การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยได้แก้เกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างดำเนินการแผนงานการปรับปรุงเกณฑ์ภาษี กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
3. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยที่เร่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว 25 แผนงานจากแผนงานทั้งหมด 33 แผนงาน แผนงานที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้วตามมาตรการนี้ อาทิเช่น การแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของการกระทำความผิด และมี 7 แผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎเกณฑ์เพื่อรองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
4. การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วทั้ง 7 แผนงาน เช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
5. การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 แผนงาน เช่น การศึกษาเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นแหล่งเงินออมสำคัญ รองรับการเกษียณ และมีแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 แผนงาน เช่น การจัดให้มีผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทุกระบบของประเทศ
6. การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล ที่แผนงานการพัฒนาการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุนโดยใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลกำลังดำเนินการอยู่
7. การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน 5 ใน 7 แผนงานได้ดำเนินการแล้ว เช่น การจัดทำ Roadmap เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับตลาดทุนไทย และกำลังเร่งดำเนินการแผนงานการพัฒนาและสนับสนุนเครื่องมือระดมทุนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน