สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ 16 องค์กร อาทิ กลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมทรู ดีแทค กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพการสื่อสาร เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมปลุกกระแส "ย้ายค่าย" เพื่อแสดงออกในการคัดค้านการควบรวม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)
โดยกลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมทรู-ดีแทค ประกาศ "พร้อมย้ายค่ายมือถือ" ใช้ "อำนาจไม่ซื้อ" แสดงพลังผู้บริโภคคัดค้านการดำเนินการควบรวมสองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ทรู-ดีแทค ซึ่งนำไปสู่การผูกขาด พร้อมจะแสดงให้ผู้ประกอบการเห็นว่าผู้บริโภคไม่ใช่ของตายที่จะปฏิบัติเหมือนสิ่งของไว้แลกเปลี่ยน หรือต่อรองทางการตลาด
พร้อมทั้งระบุว่าหาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ไม่ปฎิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก เป็นเหตุให้ผู้บริโภคต้องมีภาระจ่ายค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตแพงขึ้น ก็จะดำเนินการต่อ กสทช.ให้ถึงที่สุด
กลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ระบุว่า ที่ผ่านมา แม้ทั้งทรูและดีแทคจะระบุว่าการควบรวมกิจการระหว่างสองค่ายมือถือจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกิดการควบรวมแล้วก็จะนำไปสู่การผูกขาดของสองค่ายใหญ่ คือ บริษัทใหม่ของทรู-ดีแทค กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งจะควบคุมการตลาดมือถือแบบเบ็ดเสร็จ จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากนักวิชาการได้แสดงว่าผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม ระหว่าง 2.03% ถึง 244.5%
ในภาวะตลาดผูกขาด สองค่ายที่เหลือจะลดการแข่งขันลง และมีการ "ฮั้ว" เนื่องจากจะมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 97% ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก หมดอำนาจการต่อรอง เพราะไม่มีอะไรที่รับประกันได้ว่าหลังการควบรวมที่เหลือคู่แข่งเพียงสองรายในตลาดแล้วจะไม่มีการขึ้นราคา
ส่วนบทบาทของคณะกรรมการ กสทช. นั้น กลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมรู้สึกผิดหวังในการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนของ กสทช. ไม่ดำรงในความเป็นอิสระที่มีหน้าที่ตามบทรัฐธรรมนูญที่ต้องยืนหยัดรักษาผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ด้วยการไม่ใช้อำนาจของตนเอง แต่ยกการพิจารณาตีความอำนาจของตนเองไปให้ศาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งการแสดงออกเช่นนั้นเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม หรือประชาชนโดยรวม