ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BAY ที่ "AAA" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 7, 2022 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ระดับ "AAA" และคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทซึ่งครบกำหนดชำระภายใน 3 ปีของธนาคารที่ระดับ "AAA" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการยกระดับจากสถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารซึ่งมีการปรับขึ้นเป็นระดับ "aa" จาก "aa-" โดยสะท้อนถึงสถานะของธนาคารในการเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG Group) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินที่ MUFG Group มีให้แก่ธนาคารมาโดยตลอด รวมถึงความช่วยเหลือที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มธนาคารแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงินอีกด้วย ทั้

งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารย่อยของ MUFG Bank Ltd. (MUFG Bank) ซึ่ง MUFG Bank (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "A/Stable" จาก S&P Global Ratings) เป็นธนาคารย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย MUFG Group (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "A/Positive" จาก S&P Global Ratings) และยังเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มอีกด้วย

สถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการปรับขึ้นสะท้อนถึงสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง พอร์ตสินเชื่อที่มีการกระจายตัวที่หลากหลายรวมทั้งการมีธุรกิจสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารก็มีข้อจำกัดจากการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ในประเทศไทย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • เป็นธนาคารย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ MUFG Group ทริสเรทติ้งประเมินว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสถานะเป็นธนาคารย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ MUFG Group โดยปัจจุบัน MUFG Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย MUFG Group ถือหุ้นในสัดส่วน 76.88% ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทริสเรทติ้งเชื่อว่า MUFG Group นั้นมีพันธสัญญาที่เหนียวแน่นในระยะยาวที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและด้านธุรกิจจาก MUFG Group ต่อไป โดยในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ MUFG Group จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ธนาคารในเวลาที่ธนาคารมีปัญหาทางการเงิน

ทั้งนี้ ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการขยายธุรกิจเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มโดยเฉพาะในส่วนของธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยจากความชำนาญของธนาคารกรุงศรีอยุธยาในธุรกิจนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มในการทำกำไรในอัตราที่สูงกว่าและมีการเติบโตที่สูงอีกด้วย โดยในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดระหว่างธนาคารกับกลุ่ม ในแง่ของการสนับสนุนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Cross-border Business) การอ้างอิงลูกค้า (Client Referral) การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มสายการผลิต (Supply-chain Financing) รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management Business) ทั้งนี้ MUFG Group มีส่วนร่วมในการบริหารงานของธนาคารอย่างชัดเจนทั้งในระดับคณะกรรมการและผู้บริหาร โดยกรรมการที่ไม่เป็นอิสระของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 4 คนจากทั้งหมด 7 คนได้รับการแต่งตั้งจาก MUFG Group

  • ธุรกิจเป็นที่ยอมรับและพอร์ตสินเชื่อมีการกระจายตัวดี ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีความมั่นคงเป็นปัจจัยที่ทริสเรทติ้งใช้ในการประเมินสถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยธนาคารมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย จากขนาดสินทรัพย์ที่ 2.6 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์จำนวน 6 รายที่มีความสำคัญในเชิงระบบ (Domestic Systematically Important Banks -- D-SIB) ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ระดับ 13.7% และมีเงินฝากอยู่ที่12.3% ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น 9 แห่ง

ธนาคารยังคงส่วนแบ่งทางการตลาดที่โดดเด่นในผลิตภัณฑ์กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่สำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการเติบโตที่ระมัดระวังมากขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาด 26% ในสินเชื่อส่วนบุคคล 15% ในสินเชื่อบัตรเครดิต และ 29% ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือธนาคารอื่นในการดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจากการได้รับความร่วมมือจาก MUFG Group อีกด้วย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีการขยายพอร์ตสินเชื่อในอัตราที่ช้าลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลางที่ 3.1% จากปีก่อน และ 3.1% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยก็มีการเติบโตเช่นกันแต่อยู่ในอัตราที่น้อยกว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 สินเชื่อรายย่อยคิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดที่ 47% ของสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อ SME อยู่ที่ 37% และ 16% ของสินเชื่อทั้งหมดตามลำดับ

โครงสร้างรายได้ของธนาคารมีความหลากหลาย โดยมีสัดส่วนที่มาจากการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) คิดเป็นประมาณ 71% ของรายได้ทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 15% ของรายได้ทั้งหมดและรายได้อื่น ๆ อยู่ที่ 14% ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศจะช่วยเสริมกลยุทธ์ระดับภูมิภาคของ MUFG Group โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยเพิ่มฐานรายได้ที่หลากหลายมากขึ้นในระยะกลาง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความพยายามของธนาคารในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ในประเทศผ่านกลยุทธ์การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะช่วยสนับสนุนความมั่นคงของธุรกิจและกำไรของธนาคารในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าได้

  • สถานะเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งปรับสถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารขึ้นจากการประเมินสถานะเงินกองทุนของธนาคารเป็นระดับที่แข็งแกร่งจากเดิมที่ระดับที่เพียงพอ โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET-1) ที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการเติบโตที่ระมัดระวังมากขึ้น กำไรที่แข็งแกร่งและฐานเงินทุนและส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นของบริษัทลูก โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET-1) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 15.15% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 14.26% ณ สิ้นปี 2563 และ 13.05% ณ สิ้นปี 2562 คุณภาพของเงินทุนอยู่ในระดับปานกลาง โดยส่วนของเจ้าของคิดเป็น 77% ของเงินกองทุนทั้งหมด ณ เดือนมิถุนายน 2565

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าธนาคารจะคงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของให้อยู่ในช่วง 15%-16% เอาไว้ได้ในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าโดยอยู่บนพื้นฐานของการคาดการณ์ว่าสินเชื่อของธนาคารจะเติบโตที่ระดับประมาณ 3%-5% และอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ระดับประมาณ 25% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งได้คำนึงถึงการลงทุนของธนาคารใน Capital Nomura Securities PCL ในประเทศไทยและ SHB Finance ในเวียดนามแล้ว

  • ความสามารถในการทำกำไรจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอยู่ในระดับที่น่าพอใจและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2 ปีข้างหน้าโดยคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาใน 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 1.0%-1.2% โดยอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ที่สินเชื่อจะเติบโตในระดับปานกลาง และต้นทุนทางเครดิตอยู่ในระดับ 1.5%-1.7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วง 3.2%-3.4% จากสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ระดับประมาณ 43% จากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดของธนาคาร

ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ไม่รวมการรับรู้กำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 1.01% ในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.94% ในปี 2563 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.00% ในปีเดียวกัน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2565 ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.20% ซึ่งมีสาเหตุมาจากต้นทุนทางเครดิตและต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และการเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคาร โดยธนาคารสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ลงมาที่ 42.9% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น

  • คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และจะสามารถรักษาเงินทุนสำรองในระดับที่ดีได้ แม้ว่าจะมีการทยอยสิ้นสุดลงของมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดย NPL ของธนาคารอยู่ที่ 2.48% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 2.88% ในช่วงเวลาเดียวกันจากผลของโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคาร การตัดจำหน่ายหนี้สูญ นโยบายการตั้งสำรองที่ค่อนข้างระมัดระวัง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 189.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จาก 163.8% ณ สิ้นปี 2562 และซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 166.6%

แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะทยอยสิ้นสุดลงแต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากนโยบายการให้สินเชื่อและการตั้งสำรองที่ค่อนข้างระมัดระวังโดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อรายย่อย จากคาดการณ์ว่าอัตราการตั้งสำรองของธนาคารจะอยู่ในช่วง 1.5%-1.7% ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจะอยู่ที่ 150%-180% ในช่วงปี 2565-2567

  • มีสถานะเงินทุนอยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งประเมินว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสถานะเงินทุนอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย โดยเงินฝากจากลูกค้าของธนาคารปรับตัวลดลง 3.0% ในปี 2564 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมของธนาคารปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 107.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 (ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ 93.1%) จากระดับ 106.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารแม่ ซึ่งทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าการกู้ยืมจากกลุ่ม MUFG เป็นแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคง

ธนาคารมีพัฒนาการเชิงบวกในด้านอัตราส่วนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account ? CASA) และต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้น อัตราส่วนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 66.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 63.4% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 จากลูกค้าธุรกิจที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน ต้นทุนทางการเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยาลดลงเหลือ 0.92% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 1.02% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและฐานเงินฝากประจำที่ลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินโดยรวมยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.71% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการมีสัดส่วนของแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่และเงินฝากประจำเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการระยะเวลาระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน

  • มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องเฉพาะในส่วนของธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้นอยู่ในระดับที่เพียงพอและใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางรายอื่น ๆ โดยสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 139% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่ระดับ 100% แต่ต่ำกว่า LCR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 188% อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ระดับที่น่าพอใจที่ 32.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าแหล่งเงินกู้และความช่วยเหลือที่ธนาคารได้รับจาก MUFG Group นั้นถือเป็นปัจจัยเสริมด้านสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคารอีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน (สำหรับปี 2565-2567)

  • อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%-5%
  • ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5%-1.7%
  • อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.6%-3.3%
  • อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของจะอยู่ที่ระดับ 15%-16%
  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.0%-2.2%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงสถานภาพในการเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ MUFG Group และจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่สถานะเครดิตของ MUFG Group มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ทริสเรทติ้งพิจารณาเห็นว่าระดับความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยที่สถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารลดลงต่ำกว่าระดับ 11.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ