"เอกกมล" มองงานท้าทาย ก.ล.ต.สร้างเกณฑ์คุมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลท่ามกลางข้อจำกัด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 7, 2022 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปี 35-38 กล่าวในการเสวนา "ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า : ก้าวอย่างเท่าทันและทัดเทียมเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน" ว่า ความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต.ในอนาคตอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขึ้นกับกฎเกณฑ์และวิธีการดำเนินการรับมือ

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีเพียงแค่ตลาดทุนและตลาดเงิน แต่ล่าสุดมีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาในระบบ และมีบทบาทอย่างมากในตลาดทุนยุคปัจจุบัน และในประเทศไทยก็ยังไม่มีฝ่ายที่กำกับดูแลโดยเฉพาะเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงทำให้ ก.ล.ต.จะต้องเข้าไปรับหน้าที่ดูแล ซึ่งกฎเกณฑ์ควบคุมต่างๆที่มีอยู่ไม่สามารถกำกับดูแลได้เช่นเดิมจึงจะต้องสร้างเกณฑ์ขึ้นมาใหม่

นายเอกกมล กล่าวว่า เป็นความท้าทายที่ทาง ก.ล.ต. ที่จะต้องดำเนินการให้สามารถพัฒนา ปรับปรุง และ แก้ไข กฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถควบคุมได้เลย เนื่องจากสินค้านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย และการซื้อขายก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศ เหมือนอย่างตลาดหุ้นหรือตลาดพันธบัตร เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการซื้อขายผ่านแต่ละบล็อกเชน ซึ่งต้องยอมรับว่าควบคุมได้ยากมาก "ระยะเวลาอันใกล้ที่ผ่านมาผมก็ไม่เข้าใจว่า Digital currency เป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนได้ยังไง และเมืองไทยเองก็ไม่ได้มีองค์กรที่จะเข้ามาที่จะเข้ามาดูแลตรงนี้ ซึ่ง ก.ล.ต. ก็จะต้องเข้ามารับผิดชอบ โดยการควบคุมกฎเกณฑ์ต่างๆไม่เหมือนเดิม เป็นความท้าทายที่จะต้องทำ ซึ่งเราเห็นแล้วว่าเราไม่สามารถควบคุมต้นน้ำได้ Cryptocurrency ก็ไม่รู้ว่าไปเชื่อหรือไปเรียกว่า currency ได้ยังไง อันนี้ไม่เหมือนตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อ ก.ล.ต. ได้รับมอบหมายมาก็ต้องทำต่อไป ไม่รู้ความยั่งยืนของตลาดนี้ หรือ กฎเกณฑ์ที่จะออกมา ถือเป็นความท้าทายของ ก.ล.ต. ซึ่งหน้าที่ของเราที่ทำได้คือแค่ควบคุมธุรกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเท่านั้น"นายเอกกมล กล่าว นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ในปี 38-42 มองว่าในระยะเวลา 5-10 ปี ข้างหน้า Digital Technology ,Data Analytics และ Data Science จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยหลายๆด้าน คือ

1.การวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดตลาด Trading mechanisms ที่จะมีความซับซ้อนและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นจะเข้ามาทำงานทดแทนที่มนุษย์ที่จะส่งผลให้การภาพรวมการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี 2.ความจำเป็นในการมีตัวกลาง และ ผู้ทำหน้าที่ต่างๆ อาทิ นักวิเคราะห์การเงินการลงทุน การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และ นายหน้าการซื้อขายต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ เนื่องจากมีความแม่นยำสูงกว่า รวดเร็วกว่า 3.การทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบกระจายศูนย์ และลดบทบาทหน้าที่ของตัวกลางลง เป็นแนวคิดที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างเข้มข้นต่อไป โดยผู้ประกอบการ ผู้กำกับดูแล และ นักลงทุน ต้องเข้าใจแนวคิดใหม่ในตลาดการเงิน ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเข้ามา แต่หน้าที่ของเงินทุนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งยังคงมีหน้าที่หลักในการเป็นตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยนแปลงสินค้า รวมถึงการกำหนดค่า รักษามูลค่าเหมือนที่เป็นมา แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบของเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นการเกิดขึ้นของ Digital currency เป็นต้น นายปกรณ์ แนะนำให้ ก.ล.ต. เพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย และ ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อมาคือการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืน (ESG) เพื่อที่จะยกระดับบริษัทจดทะเบียนไทยให้เป็นที่ยอมรับสู่สากล และสุดท้ายการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทจดทะเบียน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก นอกจากนี้จะต้องมีการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย โดยให้ตลาดทุนมีบทบาทมากขึ้นในการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กลง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องมีการส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป ในการบริหารเงินส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ การออมเพื่อที่จะสร้างหลักประกันในชีวิต และการสร้างทักษะทางการเงินที่จำเป็น ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.ในปี 42-46 เปิดเผยว่า ความท้าทายต่อเนื่องของตลาดทุนไทยใน 10 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น 3 แกนหลัก คือ 1.ความทั่วถึง โดยที่ผ่านมาหลายๆอย่าวมีการเจริญเติบโตแต่ว่าผลประโยชน์ของการเติบโตไปได้ไม่ทั่วถึง 2. ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความสะดวก โดยเริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านแกนที่ 3.เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นประโยชน์มากต่อชาวโลก สำหรับสิ่งที่จะฝากถึง ก.ล.ต. คือ บทบาททางด้าน Digital currency ในส่วนของที่เป็นจัดทำขึ้นแล้วมีสินทรัพย์ต่างๆ หรือ มีการลงทุนในธุรกิจ และ สิทธิการใช้ต่างๆรองรับไม่ได้เป็นปัญหา แต่อย่างไรก็ตามในส่วนที่เป็นปัญหาคือกลุ่มของ Cryptocurrency ที่ไม่ได้มีพื้นฐานใดๆ เข้ามารองรับ แต่ถูกนำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า โดยกฎเกณฑ์ต่างๆที่จะออกมาจะต้องฟังผู้ที่มีส่วนได้เสียมากๆ เพื่อที่จะไม่ให้ศักยภาพของเราเป็นเพดานจำกัดความก้าวหน้าของตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ