IPOInsight: AMARC เปิดแล็บเข้าตลาด!! หุ้นห้องวิจัยตัวแรก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 12, 2022 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในเรื่องของความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ แน่นอนว่าเรื่องมาตรฐานด้านคุณภาะและความปลอดภัยก็มีความสำคัญมาก จึงเป็นโอกาสให้ บมจ.ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย (AMARC) ระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้น IPO และเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 19 ต.ค.65 ในหมวดธุรกิจบริการ (Service) เพื่อนำมาขยายธุรกิจรองรับการเติบโต

AMARC กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 2.90 บาท/หุ้น พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท (P/E) เท่ากับ 45.72 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 ถึง 30 มิ.ย.65 เท่ากับ 26.64 ล้านบาทหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 420,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.06 บาทต่อหุ้น

*จุดเริ่มต้นของห้องแล็บเอกชนกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

นายชินดนัย ไชยยอง กรรมการผู้จัดการ AMARC เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลากว่า 18 ปีแล้ว โดยแบ่งธุรกิจออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1) ธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์ : Testing 2) ธุรกิจบริการสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ : Calibration และ 3) ธุรกิจบริการตรวจสอบและรับรองระบบ : Inspection Body and Certification Body

"จุดเริ่มต้นของ AMARC มาจากเราเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งอุตสาหกรรมนี้อยู่ในปัจจัย 4 เลย เพราะมีทั้งด้านอาหารและยา ล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ ทำให้สัดส่วนรายได้หลักของเราอยู่ในธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์ประมาณ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% ก็จะเป็นธุรกิจอื่น ๆ" นายชินดนัย กล่าว

*พาส่อง "ธุรกิจตรวจวิเคราะห์" ให้บริการลูกค้ากว่า 6 พันราย

สำหรับธุรกิจตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ สามารถแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์ 3 ด้าน คือ 1)ผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร 2) ปัจจัยการผลิตทางเกษตรและสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ดิน ปุ๋ย และ 3) ผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง

นายชินดนัย กล่าวว่า ขั้นตอนการรับตัวอย่างสินค้ามีทั้งการที่ลูกค้าส่งตัวอย่างมาที่บริษัท หรือทางบริษัทไปรับตัวอย่างจากลูกค้าเพื่อมาตรวจ ขั้นแรกเมื่อได้รับสินค้าแล้วจะตรวจสอบหลายด้าน อาทิ สารพิษตกค้าง หรือ เชื้อจุลินทรีย์ ตามวัตถุประสงค์ของลูกค้า เช่น เพื่อการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ เพื่อขอรับรองสำหรับการส่งออก เป็นต้น

"ถ้าลูกค้าต้องการส่งสินค้าออกต่างประเทศ เขาก็จะมีรายการตรวจมาเลยว่าประเทศนี้ต้องตรวจอะไรบ้าง ซึ่งถ้าตรวจเสร็จเราก็จะออก certificate ให้เขา เขาก็จะใช้ใบนี้ไปส่งออกให้แต่ละประเทศซึ่งก็มีกฎที่ต่างกัน เพราะต้องบอกว่าสารบางอย่างอาจไม่ส่งผลรุนแรงกับคนเชื้อชาตินี้ แต่ถ้ากับคนอีกภูมิภาคหนึ่งอาจส่งผลร้ายแรงได้ ข้อกำหนดของแต่ละประเทศจึงแตกต่างกัน" นายชินดนัย กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าราว 6 พันราย ประกอบไปด้วย กลุ่มลูกค้าราชการ และกลุ่มลูกค้าเอกชน ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือแม้แต่ลูกค้าจากประเทศใกล้เคียงอย่าง ลาว เมียนมา กัมพูชา ก็ส่งสินค้ามาให้ทางบริษัทตรวจรับรองเช่นกัน

"ลูกค้าของเรามีทั้งกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูป หากเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ สินค้าต่าง ๆ ก็เป็นลูกค้าของบริษัทเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว ทั้งเหล้า เบียร์ เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง อาหารเสริม ก็ใช่ทั้งหมด เพราะมันต้องมีการตรวจสินค้าตามข้อกำหนด" นายชินดนัย กล่าวเสริม

นอกจากธุรกิจตรวจวิเคราะห์ที่เป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทแล้ว ยังมีธุรกิจให้บริการสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ ให้บริการลูกค้ากลุ่มห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาล ภาคการผลิต และ โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือและอุปกรณ์มีความถูกต้องแม่นยำ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

และอีกหนึ่งธุรกิจอย่างการบริการตรวจสอบและรับรองระบบ ที่รองรับการตรวจและรับรองฟาร์ม อาทิ ฟาร์มเพาะปลูกพืช ฟาร์มประมง รวมถึงโรงงงานแปรรูปและผลิตอาหาร ก็ยังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี จากเทรนด์ฟาร์มปลูกกัญชง-กัญชาที่มีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับยังมีงานที่ภาครัฐถ่ายโอนมา ก็จะทำให้สัดส่วนรายได้ในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

*อุตสาหรรมเกษตรและอาหารไทยมองยังไงก็โต!

"ที่ผ่านมาคงเคยได้ยินคำว่า "ครัวไทยไปสู่ครัวโลก" เพราะว่าเมืองไทยเราเป็นเมืองเกษตรและอาหารโดยตรง สินค้าที่เราต้องตรวจ ยังไงก็มีให้ตรวจ และยังมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่สนับสนุนการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยด้านเกษตรและอาหาร เราจะเห็นว่ามี Smart Farm เยอะแยะไปหมดเลย ซึ่งมันก็มาช่วยสนับสนุนตลาดเกษตรและอาหารให้มันเติบโต" นายชินดนัย กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงาน บริษัทให้ความสำคัญกับทีมบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ โดยจะต้องเป็นบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ราว 150 คนภายในองค์กร ซึ่งแต่ละปีจะต้องมีการจัดทดสอบความสามารถ รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยเฉพาะเพื่อตามให้ทันกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ผลิตออกมา

นอกจากทีมบุคลากรทางวิทยาศาสตร์แล้ว บริษัทยังมีจุดแข็งจากทีมบริการลูกค้า (Customer Services) ที่จะคอยช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับการตรวจและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ทำให้ลูกค้าเดิมกลับมาใช้บริการกับ AMARC อีกครั้ง

"คู่แข่งในตลาดแบบนี้ก็ถือว่ามีนะ แต่จะเป็นส่วนราชการ นอกนั้นก็เป็นห้องแล็บต่างชาติไปเลย อย่างทีม Customer Services ของเราก็เป็นคนไทยด้วยกัน ทำให้เข้าใจลูกค้าในประเทศมาก มันทำให้ลูกค้าเดิมราว 70% กลับมาใช้บริการกับเรา ส่งตัวอย่างสินค้ามาให้เราตรวจเพิ่มขึ้น ๆ " นายชินดนัย กล่าว

*เข้าตลาดฯ ขยายการให้บริการ พร้อมเพิ่มฐานลูกค้าใหม่

วัตถุประสงค์ของการเข้าระดมทุนในครั้งนี้ AMARC จะนำไปจัดซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ราว 96 ล้านบาท ใช้เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 75 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีกราว 161 ล้านบาทจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มความน่าเชื่อถือในระดับสากล ให้เป็นที่รู้จักของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ

"จริง ๆ ปี 65 เราตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 20% ซึ่งช่วง 4 เดือนแรกโควิดยังระบาดหนักอยู่ แต่ถ้าหลังเข้าตลาดฯ แล้วเราจัดซื้อเครื่องมือทัน เราก็มั่นใจว่าจะสามารถทำให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และหลังเราเข้าตลาดฯ ลูกค้าจะต้องเชื่อมั่นว่าเรามีความมั่นคง เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น เราก็จะมีโอกาสที่จะไปแข่งขันในเวทีระดับสากล ซึ่งการซื้อเครื่องมือเพิ่มเข้ามา ก็เพื่อให้เราขยายงานบริการให้หลากหลายมากขึ้น" นายชินดนัย กล่าว

สำหรับแผนธุรกิจในระยะยาว บริษัทวางแผนจะเปิดศูนย์รับตัวอย่างไปใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมกับเพิ่มจำนวนทีมเซลล์และทีมนักวิทยาศาสตร์ เพื่อขยายฐานลูกค้าและให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังให้บริการสินค้าใหม่ ๆ อย่างในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการจำหน่ายชุดตรวจคุณภาพน้ำในครัวเรือน ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่ม B2C มากขึ้น

*P/E 45 เท่า !! ไร้คู่แข่งจริงไหม !?

นายชินดนัย กล่าวว่า จากมุมมองของนักวิเคราะห์ ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 2.90 บาท คิดเป็น P/E ประมาณ 45 เท่า เป็นมุมมองที่สมเหตุสมผลแล้ว เพราะว่าธุรกิจของ AMARC เป็นห้องแล็บเกษตรและอาหารเอกชนเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทย ยังไม่มีคู่แข่งที่ดำเนินธุรกิจเหมือนกันกับของบริษัท

"ถ้าถามว่าจะมีคู่แข่งไหม ต้องบอกว่าคนที่อยากจะเข้ามาเป็นแล็บเอกชนแบบนี้ ถ้าเขาไปศึกษาดี ๆ จะเห็นว่าเข้ามาในธุรกิจนี้ยากมาก กว่าจะได้มาตรฐานการรับรองแต่ละตัวใช้เวลาเป็นปี ๆ ซึ่งต้องบอกว่าเราก็สะสมมาตรฐานต่าง ๆ มาตั้ง 18 ปีแล้ว เราเป็นแล็บเกษตรและอาหารเอกชนรายแรกและรายเดียวของประเทศไทยที่กำลังจะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อศักยภาพในการเติบโตอย่างตอเนื่อง ยั่งยืน และมั่นคงในอนาคต" นายชินดนัย กล่าว

https://youtu.be/V4AMEmff-m0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ