สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (SEC Digital Services) และเดินหน้าพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ตามแผนการพัฒนาบริการดิจิทัล (SEC Digital Services Roadmap) สอดรับกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลและพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ตอบรับนโยบายรัฐบาลเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยจัดให้มีแผนการพัฒนาบริการดิจิทัล (SEC Digital Services Roadmap) ตั้งแต่ปี 2563 โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการที่ตอบโจทย์ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เปิดให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วหลายรายการ และจะเดินหน้าพัฒนาบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดภาระและค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารและการเดินทางของประชาชนและภาคธุรกิจต่อไป
ทั้งนี้ บริการอิเล็กทรอนิกส์ที่ ก.ล.ต. เปิดให้บริการไปแล้วนั้น ครอบคลุมการรับส่งและออกเอกสารเป็นอิเล็กทรอนิกส์ การเปิดเผยข้อมูล (SEC Open Data) การยกระดับบริการ เช่น บริการสืบค้นข้อมูลผู้ได้รับอนุญาตและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ (SEC Check First) การดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เปิดตัวระบบการรับข้อมูลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-submission) ระยะที่ 2 และปรับปรุงระบบการรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (OFAM PVD)
รวมทั้งล่าสุด ก.ล.ต. ได้เปิดตัวบริการ E-licensing สำหรับการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ที่สามารถให้บริการได้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 โดยเริ่มจากใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล และจะมีการพัฒนาระบบรองรับใบอนุญาตประเภทอื่น เช่น ใบอนุญาตเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566
ที่ผ่านมา การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของ ก.ล.ต. ได้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อบริการสาธารณะและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐทำให้ตรวจสอบความถูกต้องได้ สามารถลดสำเนาเอกสารทางราชการ ระบบมีความมั่นคงปลอดภัย มีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของธุรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 รวมทั้งมาตรฐานที่หน่วยงานรัฐกำหนด มาโดยตลอด