ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (1 เม.ย.) โดยภาวะการซื้อขายในวันแรกของไตรมาสที่ 2 เป็นไปอย่างคึกคัก หลังจากมีข่าวว่าเลห์แมน บราเธอร์ส์ และธนาคารยูบีเอส ออกหุ้นใหม่เพื่อระดมทุนหลังจากขาดทุนในไตรมาสแรก ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้น 391.47 จุด หรือ 3.19 % แตะระดับ 12,654.36 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดพุ่งขึ้น 47.48 จุด หรือ 3.59% แตะ 1,370.18 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดพุ่งขึ้น 83.65 จุด หรือ 3.67% แตะ 2,362.75 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 1.70 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 4 ต่อ 1
ริชาร์ด คริปส์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทสตีเฟล นิโคลาส์ กล่าวว่า "หุ้นกลุ่มการเงินพุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุด หลังจากมีข่าวว่าเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ และยูบีเอส ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิส ประกาศออกหุ้นใหม่เพื่อระดมทุน หลังจากที่ขาดทุนในไตรมาสแรก นักลงทุนมองข้ามข่าวที่ว่ายูบีเอสต้องปรับลดมูลค่าทางบัญชีเนื่องจากขาดทุนในตลาดซับไพรม์"
เมื่อวานนี้ ยูบีเอส เปิดเผยว่า ธนาคารขาดทุนในไตรมาสแรก 1.2 หมื่นล้านฟรังค์ และต้องลดจำนวนพนักงานลงอีก หลังจากธนาคารต้องปรับลดมูลค่าทางบัญชีลงอีก 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้นายมาร์เซล ออสเพล ประธานยูบีเอส ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง
โยชิฮิสะ โอกาโมโตะ นักวิเคราะห์จากมิซูโฮ แอสเสท เมเนจเมนท์ กล่าวว่า "แม้การขาดทุนของยูบีเอสทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นหลายระมัดระวังการซื้อขายในวันนี้ แต่นักลงทุนตอบรับความพยายามของยูบีเอสที่จะระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาการตั้งสำรองหนี้สูญและการปรับลดมูลค่าทางบัญชี"
ทั้งนี้ หุ้นยูบีเอสพุ่งขึ้น 14.6% หุ้นเลห์แมน บราเธอร์ส ทะยานขึ้น 17.8% หุ้นเจพีมอร์แกนพุ่งขึ้น 9.4% หุ้นแบร์สเติร์นส์ ดีดขึ้น 3.4% หุ้นซิตี้กรุ๊ปพุ่งขึ้น 11%
เลห์แมน บราเธอร์ส เปิดเผยว่า กำไรไตรมาสแรกของบริษัทมีอยู่ทั้งสิ้น 489 ล้านดอลลาร์ หรือ 81 เซนต์ต่อหุ้น ลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 1.15 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.96 ดอลลาร์ต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม กำไรไตรมาสแรกของเลห์แมน บราเธอร์ส ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์จากโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะอยู่ที่ 72 เซนต์ต่อหุ้น
นอกจากนี้มีรายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศปรับโครงสร้างระบบควบคุมภาคการเงินครั้งใหญ่สุดในรอบ 80 ปี โดยเปิดทางให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีอำนาจตรวจบัญชีของสถาบันการเงินที่ส่อเค้าว่ามีความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาต่อระบบ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นมาตรการที่เน้นการแก้ปัญหามากกว่าการป้องกัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--