บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) คงอยู่ที่ระดับ “A" และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันที่ระดับ “A-" เท่าเดิม ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ รวมทั้งกระแสเงินสดที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 หรือทางพิเศษเฉลิมมหานครซึ่งทำให้เกิดโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงกันทั่วกรุงเทพฯ
และการมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ การจัดอันดับเครดิตยังคำนึงถึงโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันของบริษัทซึ่งมีการกำหนดเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัทตลอดอายุของตราสารด้วย
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากจำนวนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลด้านระบบการขนส่งในอนาคต และการแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทางด่วน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งจะทำให้บริษัททางด่วนกรุงเทพมีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้
ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการและดูแลรักษาสภาพพื้นผิวการจราจรบนทางด่วนให้อยู่ในระดับที่ดีเพื่อรักษาปริมาณการจราจรให้อยู่ในระดับที่สูงต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททางด่วนกรุงเทพเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและส่วนต่อขยายต่างๆ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทางพิเศษศรีรัชเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 38.5 กิโลเมตร
และแบ่งออกเป็น 4 ส่วนซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อจากศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด
นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยคือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ ซึ่งมีระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีจาก กทพ. ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน NECL ในสัดส่วน 53.33% ของทุนจดทะเบียนของ NECL
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัททางด่วนกรุงเทพ ได้แก่ ปริมาณการจราจรบนทางด่วน อัตราค่าผ่านทาง และต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากระหว่างปี 2548-2550 โดยปริมาณการจราจรในปี 2548 เพิ่มขึ้น 2.29% ในปี 2549 เพิ่มขึ้น 3.45% และในปี 2550 เพิ่มขึ้น 4.24% ซึ่งคิดเป็นปริมาณรถยนต์ 984,616 คันต่อวัน เปรียบเทียบกับปริมาณเฉลี่ยในปี 2549 ที่ 944,572 คันต่อวัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑล และการจราจรที่ติดขัดบนถนนปกติจะยังคงส่งผลต่อความต้องการใช้ทางด่วนในอนาคต ผลประกอบการของบริษัทคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการปรับอัตราค่าผ่านทางที่แม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และความสามารถของคณะผู้บริหารในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน
บริษัททางด่วนกรุงเทพ รายงานรายได้ค่าผ่านทางในช่วงปี 2550 ที่ 7,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 276 ล้านบาท หรือ 3.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม กำไรของบริษัทปรับลดลง 136 ล้านบาท โดยอยู่ที่ 1,407 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการจ่ายค่าธรรมเนียมการชำระคืนเงินกู้ยืมก่อนกำหนดจำนวน 222 ล้านบาทและภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ตามสัญญาเงินกู้ยืม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่ของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2549 มาอยู่ที่ 5% ในปี 2550 และจะเปลี่ยนจากอัตราคงที่ไปเป็นอัตราลอยตัว (ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีหรือ MLR -2%) ในเดือนตุลาคม 2551 เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยบางส่วน บริษัทได้ดำเนินการจัดหาเงินกู้ใหม่ในเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อทดแทนเงินกู้เดิม
ทั้งนี้ บริษัทได้นำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้อายุ 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี มูลค่า 7,500 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.6% มาใช้ชำระหนี้เงินกู้เดิมบางส่วน ส่งผลให้บริษัทต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการชำระคืนเงินกู้ยืมก่อนกำหนดจำนวน 222 ล้านบาทดังกล่าว การมีค่าใช้จ่ายทางการเงินที่สูงขึ้นทำให้บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 4.85 เท่าในปี 2549 มาอยู่ที่ 3.98 เท่าในปี 2550
ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัททางด่วนกรุงเทพ ณ เดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ 26,600 ล้านบาท ลดลง 1,783 ล้านบาทจากสิ้นปี 2549 ทั้งอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 62.39% และ 15.46% ในปี 2550 จาก 64.64% และ 14.5% ในปี 2549 ตามลำดับ แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ก็บรรเทาลงจากการมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนและสม่ำเสมอจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่คงตัว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--