ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนปี 2565 จำนวน 21,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.28 สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 21.8 ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.0
ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 24,733 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,796,849 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากสิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 240.1
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 จำนวน 3,165,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากสิ้นปี 2564 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 88.4 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.5 ร้อยละ 15.2 และร้อยละ 14.4 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
BBL ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น และจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออกของไทยและประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคนต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางในหลายประเทศ เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เริ่มส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้อัตราการขยายตัวของภาคการส่งออกไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2565 ขยายตัวร้อยละ 6 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11 ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ธนาคารกรุงเทพยังคงดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบของลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ ธนาคารพร้อมให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง ภายใต้เจตนารมณ์ของการเป็น "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน" เพื่อสนับสนุนลูกค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง